ส่องความคิด-การบริหาร "ชาตรี โสภณพนิช" นายแบงก์ผู้เป็นตำนาน
เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ผู้ล่วงลับ โดดเด่นอย่างยิ่งในเรื่องของการบริหารคน จนสามารถสร้างธนาคารกรุงเทพให้กลายเป็นธนาคารใหญ่ที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจไทย
เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ผู้ล่วงลับ โดดเด่นอย่างยิ่งในเรื่องของการบริหารคน จนสามารถสร้างธนาคารกรุงเทพให้กลายเป็นธนาคารใหญ่ที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจไทย
*********************
โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง
นับเป็นความสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศทางด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างยิ่งกับการถึงแก่อนิจกรรมของ เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ ผู้ที่ได้รับการยกย่องจากทุกแวดวงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีบทบาทสูงในการพัฒนาประเทศในยุคของคลื่นลูกที่สามที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม
เจ้าสัวชาตรี เกิดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2476 เป็นบุตรคนที่สองของ ชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ กับ ชาง ไว เลาอิง นับว่าเป็นโสภณพนิชในรุ่นที่สอง ที่รับสืบทอดกิจการของตระกูลต่อจากบิดา สมรสกับคุณหญิงสุมณี โสภณพนิช มีบุตรและธิดารวม 4 คน คือ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาวิตรี รมยะรูป ชาลี โสภณพนิช และสุชาดา ลีสวัสดิ์ตระกูล
เจ้าสัวชาตรีเริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการบัญชี ที่บริษัท เอเชียทรัสต์ เมื่อปี 2501 ก่อนจะมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีของธนาคารกรุงเทพในเดือน ต.ค. 2502 โดยมี บุญชู โรจนเสถียร ปรมาจารย์ทางด้านบัญชี ผู้มีความรู้กว้างขวางด้านการเงินการธนาคารเป็นพี่เลี้ยง
เจ้าสัวชาตรีใช้เวลาบ่มเพาะความรู้ทุกแขนงจนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพในปี 2523 โดยในช่วงที่ดำรงตำแหน่งสามารถบริหารงานจนนำพาให้ธนาคารกรุงเทพเติบโตอย่างมาก มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ธนาคารพาณิชย์ไทยทำกำไรสุทธิได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงเทพจึงได้ก้าวขึ้นเป็นธนาคารอันดับ 1 ของประเทศไทย และติด 1 ใน 200 ธนาคารชั้นนำของโลก
การทำให้ธนาคารกรุงเทพกลายเป็นธนาคารระดับโลกได้ ก็เพราะวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล การตัดสินใจที่เฉียบคม โดยธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ออกไปตั้งสาขาต่างประเทศ เนื่องจากมองเห็นว่าการค้าขายระหว่างประเทศนับวันจะเติบโตมากขึ้น โดยปักธงสาขาแรกที่ฮ่องกงและต่อมาก็ขยายไปเปิดสำนักงานตัวแทนในหลายประเทศ อาทิ จีน เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น เจ้าสัวชาตรีไม่เคยคิดปิดสาขาแม้จะไม่ได้กำไร แต่ในที่สุดหลายสำนักงานตัวแทนได้ยกระดับเป็นสาขา และสาขาก็ยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นได้โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อนุญาตยากอย่างจีนและเมียนมา
นอกจากนี้ เจ้าสัวชาตรีโดดเด่นอย่างยิ่งในเรื่องของการบริหารคน โดยจะเน้นการใช้คนให้ตรงกับงานใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ทำให้พนักงานรักและเคารพอย่างสูงและยังเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าแบบเติบโตไปด้วยกัน หากเป็นลูกค้าดั้งเดิมที่อยู่กับธนาคารมานาน เมื่อลูกค้ามีปัญหาก็จะเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาด้วยและให้การสนับสนุนทางการเงิน ให้โอกาสและใจกว้าง ทำให้มีลูกค้าเติบโตมาพร้อมกับธนาคารตั้งแต่ยังเป็นกิจการครอบครัวเล็กๆ จนหลายแห่งกลายเป็นกิจการระดับโลกในขณะนี้
เจ้าสัวชาตรีอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารอยู่ 12 ปี ก็เริ่มถอนตัวออกจากการบริหารงานรายวัน เพื่อที่จะส่งต่อธุรกิจให้กับโสภณพนิช รุ่นที่ 3 คือ ชาติศิริ โสภณพนิช
ในช่วงนั้นได้มีวิกฤตสำคัญกับธนาคาร คือ เกิดปัญหาทางการเมืองระหว่างจีนและฮ่องกงที่ทำให้เกิดข่าวลือว่าธนาคารกรุงเทพสาขาฮ่องกงได้รับความเสียหายมีหนี้เสียมาก และมีการแจกใบปลิวให้ร้ายว่าธนาคารกำลังมีปัญหาทางการเงิน จึงทำให้ลูกค้าธนาคารตื่นตระหนกแห่ถอนเงิน จนต้องแก้เกมด้วยการนำเงินสดมาตั้งแสดงให้ลูกค้ามั่นใจว่าธนาคารมีเงินสดคืนให้ลูกค้าทุกรายและขอให้พนักงาน ผู้จัดการสาขาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง
ในขณะเดียวกันก็ขอให้ สมหมาย ฮุนตระกูล รมว.คลัง ในสมัยนั้น และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีออกมาสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าธนาคารยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง จนประชาชนเข้าใจและหยุดถอนเงิน จนสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
นอกจากนั้น ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เจ้าสัวชาตรีได้ตัดสินใจเลือกที่จะให้แก้ปัญหาด้วยการออกตราสารคล้ายทุน หรือซูเปอร์แคป เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 เอง ไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ และใช้นโยบายไม่ขยายธุรกิจ ปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพเท่านั้นเพื่อควบคุมหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้น จนในที่สุดก็ผ่านวิกฤตมาได้โดยที่ตระกูลโสภณพนิชยังคงเป็นผู้บริหารธนาคารต่อไป
จากประสบการณ์และความรู้ความสามารถทำให้ถูกเชิญและคัดเลือกให้เข้าไปทำงานส่วนรวมมากมายหลายตำแหน่ง ทั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ประธานสมาคมธนาคารไทย ฯลฯ
การถ่ายเทธุรกิจและการสร้างคนเพื่อดำเนินกิจการธนาคารต่อไป เป็นเรื่องที่เจ้าสัวชาตรีให้ความสำคัญอย่างมาก โดยธนาคารกรุงเทพจะมีคณะกรรมการธนาคารที่มีความหลากหลายและมีความสัมพันธ์กับทุกระดับทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และการเมือง
นอกจากนี้ ก็ได้เริ่มวางตัวทายาทที่จะรับไม้ต่อโดยค่อยๆ ลดบทบาทตัวเองในกิจการลงเหลือเป็นเพียงกรรมการ เป็นที่ปรึกษา
จนถึงวันนี้นับได้ว่าเมื่อสิ้นเจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช แล้ว แทบจะไม่มีผลกระทบอะไรกับธนาคารกรุงเทพเลย ธนาคารสามารถที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง ยังคงเป็นธนาคารใหญ่ที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป