"กระทบนายทุน-ฐานเสียง" ร่างกม.ภาษีที่ดินไม่คืบ! โยนรัฐบาลหน้าตัดสินใจ
ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่อแท้ง การพิจารณาใน สนช.ไม่มีความคืบหน้า
ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่อแท้ง การพิจารณาใน สนช.ไม่มีความคืบหน้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะถูกชะลอการพิจาณาออกไปก่อน ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถออกบังคับใช้ได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่ร่างกฎหมายก็ยังค้างอยู่ในสภาและรอให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตัดสินใจว่าจะนำร่างกฎหมายมาพิจารณาต่อหรือจะตีตกไม่นำกลับมาพิจารณาอีก
“ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกต่อต้านจากนายทุนที่มีที่ดินจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลไม่อยากออกกฎหมายที่มีผลกระทบ เพราะจะกระทบกับกลุ่มทุนและฐานคะแนนเสียง” แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 1 มากว่า 1 ปี และค้างอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งมีการประชุมเพียงเดือนละครั้ง และคาดว่าจะขยายเวลาการพิจารณาจากเดือนนี้ออกไปอีก
พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง สนช.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.มีมติแก้ไขร่าง พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับในปี 2563 เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้เตรียมตัว สำหรับในชั้น กมธ.นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของหอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย และจะเสนอกลับมาให้ สนช.ได้ทันก่อนหมดวาระ
ด้าน นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กล่าวว่า ยังไม่มีความคืบหน้าการพิจารณากฎหมาย จึงไม่สามารถบอกรายละเอียดเพิ่มเติมได้
สำหรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ของ กมธ.ได้ลดเพดานอัตราภาษีลง 40% จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนได้ปรับตัว
ทั้งนี้ อัตราเพดานภาษีใหม่ ประกอบด้วย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเกษตรกรรมลดจาก 0.2% เหลือ 0.15% ที่อยู่อาศัยจาก 0.5% เหลือ 0.3% อื่นๆ นอกเหนือจากเกษตรและที่อยู่อาศัยจาก 2% เหลือ 1.2% ที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ทำประโยชน์จาก 2% เพิ่มขึ้นอีก 0.5% ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 5% ให้ลดเหลือ 1.2% เพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 3% โดยอัตราที่จัดเก็บจริงใน 2 ปีแรกจะเป็นอัตราที่ต่ำมาก