"ธนาคารไทยพาณิชย์"เล็งเลิกให้สมุดบัญชีเงินฝาก
ไทยพาณิชย์เล็งเลิกให้สมุดบัญชีเงินฝาก เผยทำต้นทุนสูง ดึงให้บริการที่สาขาล่าช้า
ไทยพาณิชย์เล็งเลิกให้สมุดบัญชีเงินฝาก เผยทำต้นทุนสูง ดึงให้บริการที่สาขาล่าช้า
นายธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย ดิจิทัลแบงก์กิ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริการดิจิทัลที่ต้องการทำมากที่สุด คือ สมุดบัญชีเงินฝาก หรือพาสบุ๊ก บนดิจิทัล โดยไม่ต้องมีสมุดบัญชีเงินฝากอีกต่อไป เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ เมื่อจะใช้สมุดก็เสีย ต้องเข้าไปแก้ไขที่สาขา จนทำให้การปรับสมุดเงินฝากกลายเป็นงานหลักของพนักงานสาขากระทบการให้บริการที่สาขาล่าช้า
นอกจากนี้ สมุดบัญชีเงินฝากมีต้นทุนสูงมากในแต่ละปี ไม่แพ้เงินสด ทั้งต้นทุนกระดาษ ต้นทุนเครื่อง รวมทั้งต้นทุนพนักงานที่ให้บริการ ขณะที่ความจำเป็นของสมุดบัญชีเงินฝากน้อยลงเรื่อยๆ จากปัจจุบันสามารถดูรายการธุรกรรมผ่านโมบายได้อย่างละเอียดอยู่แล้ว
“พาสบุ๊กยังไม่มา อยากฆ่าให้ตายไปเลย เพราะไม่ได้ใช้ พอจะใช้เสียบเครื่องก็พัง โดยพาสบุ๊กเป็นค่าใช้จ่ายใหญ่ เป็นความไม่สะดวกของลูกค้า เป็นธุรกรรมที่ทำบ่อยมากที่สาขา ทำให้บริการที่สาขาล่าช้าไปด้วย” นายธนา กล่าว
นายธนา กล่าวอีกว่า แนวทางพัฒนาดิจิทัล ปี 2562 จะพยายามนำบริการหลักเข้ามาสู่ช่องทางดิจิทัลให้ได้และต้องทำให้ช่องทางดิจิทัลนั้นดีขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้นกว่าเดิม อาทิ บริการขอเอกสารส่งภาษี ธนาคารจะทำให้มีระบบดึงได้ทุกเอกสารและส่งแทนให้สรรพากรได้เลย ขณะที่แนวคิดการพัฒนาบริการบนอีซี่แอพ ใช้คำว่า "ช่วยทำแทนลูกค้า" ใน 3 ด้าน คือ การออม การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการทำให้เงินงอกเงย
ทั้งนี้ การออมและใช้จ่าย จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อเตือนหรือแนะนำการทำรายการ สามารถเตือนว่าเดือนนี้ใช้เงินมากไป หรือเดือนนี้เงินเหลือออมได้ ซึ่งระบบจะทำแทนอัตโนมัติ เช่น นำเงินเหลือไปใส่ในเงินฝากประจำหรือกองทุนที่ผลตอบแทนสูง
สำหรับการช่วยลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยการวิเคราะห์ฐานข้อมูล ที่จะเริ่มเห็นว่าเมื่อใดลูกค้าต้องการเงินและต้องการแบบใด ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อที่ถูกต้อง เข้าถึงง่ายจากการมีระบบประเมินความเสี่ยงที่ดี คนที่ไม่เคยขอสินเชื่อสำเร็จต่อไปก็เข้าถึงได้ด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรม คนที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนคนเสี่ยงมากดอกเบี้ยก็ควรสูงกว่า
ด้านการช่วยให้เติบโต จะมีเทคโนโลยี เช่น โรโบ มาช่วยสร้างผลตอบแทน แต่ธนาคารไม่ทำโดยพลการ จะทำได้ต่อเมื่อลูกค้ายินยอมตั้งแต่แรก ลูกค้าต้องเข้าใจความเสี่ยงตัวเอง และธนาคารต้องเข้าใจความเสี่ยงลูกค้า เพื่อช่วยลงทุนได้ถูกต้องกับความเสี่ยง
“ลูกค้าไม่มีเวลา เราอยากอาสาทำแทนให้ทุกอย่าง จึงต้องเน้นพัฒนาบิ๊กดาต้าและระบบเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งเชื่อมต่อกับพาร์ตเนอร์อีกหลากหลาย โดยปีนี้จะมีของใหม่ทยอยออกตลอดปี” นายธนา กล่าว