"เศรษฐกิจไทย"หลังเลือกตั้งยังเป็นขาลง โจทย์ยากของรัฐบาลใหม่
หลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จะเจองานยากที่ต้องบริหารเศรษฐกิจขาลงที่ยังเปราะบาง ท่ามกลางแรงกดดันจากความคาดหวังของประชาชน
หลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จะเจองานยากที่ต้องบริหารเศรษฐกิจขาลงที่ยังเปราะบาง ท่ามกลางแรงกดดันจากความคาดหวังของประชาชน
***********************************
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
เศรษฐกิจไทยปีหมูทอง 2562 ต้องถือว่าเริ่มต้นได้ไม่ดี เพราะแรงส่งจากเศรษฐกิจปีก่อนหน้ามีน้อย จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้ 5% แต่พอเข้าโค้งท้ายของปี สำนักเศรษฐกิจสำคัญของประเทศปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 4.2% เท่านั้น ทำให้แรงส่งต่อมายังเศรษฐกิจปีใหม่อ่อนแรงไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งดูแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยรายไตรมาสในปี 2561 จากไตรมาสแรกขยายตัวได้ 4.8% ไตรมาส 2 4.6% แต่ไตรมาส 3 หัวทิ่มลงเหลือ 3.3% และไตรมาสสุดท้ายหายไม่มีมาตรการที่รัฐบาลพยายามอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก และกระตุ้นการบริโภคของคนชั้นกลาง คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายจะขยายตัวได้น้อยกว่าไตรมาส 3 ลงไปอีก
ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจมีปัญหาขยายตัวได้ชะลอลง แม้ว่ายังเป็นปัญหาถึงขั้นขนาดเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถดถอย แต่สถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ทำให้รัฐบาลต้องทำงานหนักและยากมากขึ้น
ภาวะดังกล่าวเมื่อมองไปถึงเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง จึงเห็นภาพชัดเจนว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารเศรษฐกิจของประเทศต้องเจอปัญหาสาหัสคือ การบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นในช่วงขาลง เพราะจากการประมาณการเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจตรงกันว่า ปี 2561 จะขยายตัวได้ 4.2% และปีนี้จะขยายตัวได้ 4% โดยในส่วนของ สศช.มีช่วงคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ 3.5-4.5% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
แม้แต่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ก็ออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัวได้มากกว่า 4% แต่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา สวนทางกับสถาบันสำนักวิจัยเศรษฐกิจของภาคเอกชน ที่หลายแห่งประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 4% ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะอยู่ในช่วงการประมาณการของ สศช. ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 4% เช่นกัน
สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในช่วงขาลงของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกผันผวนขยายตัวได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา และยังต้องลุ้นปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่พักรบชั่วคราวถึงต้นปีนี้ หากไม่ได้ข้อยุติกลับมาทำสงครามการค้ากันรอบใหม่ ย่อมกระทบกับเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น
นักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่า ลำพังแต่พิษสงครามการค้ารอบแรกของสหรัฐกับจีน ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนลดลงอยู่แล้ว หากมีสงครามรอบใหม่ขึ้นมาอีก ย่อมทำให้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนมีปัญหาเพิ่มขึ้น กระทบกับการส่งออกของไทยอย่างรุนแรง โดยสำนักวิเคราะห์ภายในประเทศไทยเริ่มมองว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3-4% ซึ่งลดลง
ครึ่งหนึ่ง การส่งออกปีก่อนหน้าซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดต่ำลงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังพึ่งการส่งออก ทำให้หลายสำนักเศรษฐกิจภาคเอกชนมองว่า เศรษฐกิจไทยปีเลือกตั้งจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 4%
ปัญหาที่รัฐบาลจะเจอตามมาจากเศรษฐกิจขาลงคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น กดดันการบริหารงานเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยก็จะมีปัญหาอ่อนแรง ด้านการบริโภคมีข้อจำกัดจากหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนก็จะชะลอดูความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจว่าจะเหมือนเดิมหรือมีการเปลี่ยน
ด้านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ก็จะมีการชะงักไปบ้างในช่วงรอยต่อของรัฐบาลเก่ากับใหม่ ทำให้แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจปีนี้อ่อนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้รัฐบาลใหม่ต้องเจอการบริหารเศรษฐกิจขาลงที่ยากเพิ่มมากขึ้น
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง มองว่าเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งจะเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลใหม่เพราะเป็นเศรษฐกิจขาลง และไม่มีเครื่องมือพิเศษช่วย คือ มาตรา 44 อย่างรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่สามารถช่วยปลดล็อกทางเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนเดินหน้าได้เร็วขึ้นในหลายเรื่องหลายโครงการจำนวนมาก
นอกจากนี้ สมชาย ยังมองว่าการเลื่อนเลือกตั้งไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล เพราะการบริหารงานมานานมีความเหนื่อยล้า ประกอบกับเศรษฐกิจที่เป็นช่วงขาลง ทำให้รัฐบาลมีแรงกดดันมากขึ้น จึงเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดเป็นไปตามกำหนดเดิม ไม่น่ามีการเลื่อนเลือกตั้งออกไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะไม่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทย รวมถึงรัฐบาลเก่าที่จะจากไปและรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จะมีแรงกดดันการบริหารเศรษฐกิจขาลงมากขึ้น
เพราะประชาชนจะคาดหวังกับรัฐบาลใหม่อย่างมาก จะต้องทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ดีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เกษตรกรก็คาดหวังว่ารัฐบาลจะทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขั้น
ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยก็คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะแจกเงินผ่านสวัสดิการต่างๆ เพิ่มมากขึ้นจากรัฐบาลเก่า เพราะที่ผ่านมายังรู้สึกไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ ทำให้ชีวิตยังลำบาก ทั้งหมดเป็นแรงกดดันมหาศาลในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่จะเจองานยากงานหนักที่ต้องบริหารเศรษฐกิจขาลง แบกความคาดหวังของนักลงทุน ประชาชน เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยไว้สูง หากทำได้ความเชื่อมั่นก็จะเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็น่าจะเริ่มดีดตัวเพิ่มขึ้นมาได้บ้าง แต่หากรัฐบาลใหม่ตอบสนองความคาดหวังกับกลุ่มนักลงทุนและประชาชนได้ล่าช้า ความเชื่อมั่นจะมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ลดลงเป็นขาลงแรงลงเร็วเพิ่มมากขึ้นอีก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สำนักประเมินทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน มองว่าเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งเปราะบางและอ่อนแออย่างมาก ไม่แพ้ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารเศรษฐกิจในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา