posttoday

ค่าเงินบาทยังผันผวนหลังแข็งค่ามากสุดรอบ6ปี

24 มิถุนายน 2562

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.60-31.00 จับตาประชุมกนง. หลังบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.60-31.00 จับตาประชุมกนง. หลังบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.60-31.00 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.86 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาททำสถิติแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 1.12 หมื่นล้านบาท และ 1.25 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบทุกสกุลเงินสำคัญหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศคงดอกเบี้ยตามคาด แต่เฟดส่งสัญญาณว่าพร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจและแสดงความกังวลต่อข้อพิพาททางการค้าที่รุนแรงยิ่งขึ้นและเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/2562 และการใช้จ่ายผู้บริโภคของสหรัฐฯ เพื่อประเมินจังหวะเวลาที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลังจากนายพาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวว่าผู้กำหนดนโยบายคนอื่นๆ เห็นด้วยว่ามีเหตุผลสนับสนุนมากขึ้นให้เฟดปรับลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ คาดว่าการซื้อขายจะเป็นไปอย่างระมัดระวังก่อนการประชุมกลุ่มจี-20 ซึ่งนักลงทุนเฝ้าติดตามว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะคลี่คลายลงได้บ้างหรือไม่

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% ในการประชุมวันที่ 26 มิ.ย. ขณะที่ธปท.กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามธุรกรรมที่มุ่งใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ทางการไม่พึงประสงค์ โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและแข็งค่ากว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ท่ามกลางปัจจัยภายนอกซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เงินบาทและเงินสกุลตลาดเกิดใหม่ผันผวนสูง โดยธปท.ระบุว่าหากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานและอาจส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง

ทั้งนี้ ยอดส่งออกของไทยหดตัว 5.79% ในเดือนพ.ค.และลดลง 2.7% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี เราคาดว่ากนง.จะแสดงความกังวลต่ออุปสงค์ภายนอกที่ยังไม่ฟื้นตัว ผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาวยังคงเป็นประเด็นที่ทางการให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องเช่นกัน