ลดภาษี10%ล่ม "อุตตม"บอกไม่เคยพูด
"อุตตม" กลับลำบอกพลังประชารัฐไม่เคยสัญญาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% แค่ให้ทบทวนโครงสร้างจัดเก็บภาษีลดความเหลื่อมล้ำ
"อุตตม" กลับลำบอกพลังประชารัฐไม่เคยสัญญาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% แค่ให้ทบทวนโครงสร้างจัดเก็บภาษีลดความเหลื่อมล้ำ
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยถึงนโยบายการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ว่า นโยบายการปรับลดภาษีจะต้องมองในกรอบใหญ่ สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอไว้ไม่ได้พูดถึงลดภาษีโดยตรง แต่กำลังพูดว่าถึงเวลาที่น่าจะมาทบทวนโครงสร้างภาษีของประเทศ เพราะว่าจะมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล กับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีอัตราจัดเก็บห่างกันพอสมควร 30% และ 25% ภาษีพวกนี้ ซึ่งโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเงินได้ การปรับเปลี่ยนอย่างไร ลดอะไรบ้าง จะต้องมาดูในรายละเอียด
นอกจากนี้ ต้องดูด้วยเรื่องการสร้างรายได้ เพิ่มรายได้ให้ประเทศจะทำอย่างไร ข้างหนึ่งถ้าแตะภาษีจะตอบโจทย์รายได้รัฐในระยะยาวอย่างไร สุดท้ายแล้ววินัยการเงินการคลังต้องไม่ถูกกระทบ
"เพราะฉะนั้นจะไม่พูดเรื่องว่าอยู่ดี ๆ ไปปรับลดภาษี บางทีเป็นข่าวออกไป เพราะยังมีมีโอกาสที่จะได้อธิบายให้ตรงจุด เพราะจะต้องดูทั้งระบบ โจทย์คือการปรับโครงสร้างภาษี ต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจจะมีทั้งลดทั้งเพิ่ม และต้องสนับสนุนให้คนไทยมีความมั่งคั่งที่ยั่งยืนจากการประกอบอาชีพมากขึ้น ธุรกิจต้องไปได้ประเทศจะได้ประโยชน์จากภาษีที่เพิ่มขึ้น" นายอุตตม กล่าว
นอกจากนี้ นายอุตตม กล่าวว่า คลังจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาว่าต่อมาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะหมดอายุ 2562 นี้หรือไม่
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ที่จะต้องมีการเสนอเข้าสภา ต้องมีการหารือความคืบหน้ากับอธิบดีกรมสรรพากรอีกครั้ง
นายอุตตม กล่าวว่า นโยบายหลักที่กระทรวงเตรียมดำเนินการ จะมีการแถลงอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาแล้ว คลังจะเดินหน้าการสร้างความเข็มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ จากฐานราก กลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ คือ ภาคเกษตร ยกระดับ สร้างรายได้ สร้างความมั่งคั่ง เกษตร วิสาหกิจชุมขน การค้าขายในระดับชุมชนต้องคึกคัก พัฒนาโครงข่ายพื้นฐานเพื่อรองรับการค้าขายออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ
สำหรับค่าเงินบาทแข็งค่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งคลังกับ ธปท.จะต้องมีการหารือร่วมกันในอนาคต แต่คลังจะไม่เข้าไปแทรกแซง หรือก้าวก่าย โดยเฉพาะเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ให้เป็นการตัดสินใจของ ธปท. คลังพูดไม่ได้