สปสช. เพิ่มคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น หนุนประชาชนเข้าถึงสิทธิบัตรทอง
สปสช. สนับสนุน “คลินิการพยาบาลชุมชนอบอุ่น” เป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิบัตรทอง 30 บาท ล่าสุดปี 66 มีคลินิกดังกล่าวแล้ว 241 แห่ง ไม่ต้องรอคิวนาน ให้บริการผู้ป่วยนอก 4 รายการ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 7 รายการ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ได้ร่วมเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท มาตั้งแต่ปี 2563
ทั้งนี้ เพื่อร่วมให้บริการตามนโยบาย 'นวัตกรรมบริการสารณสุขวิถีใหม่' (UC New Normal) ดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการปฐมภูมิและบริการสร้างสุขภาพป้องกันโรคที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามความจำเป็น ได้อย่างครอบคลุมและสะดวกเพิ่มขึ้น ทั้งเป็นการขยายหน่วยบริการในเครือข่ายปฐมภูมิ ลดระยะเวลารอคอยการรับบริการ และลดความแออัดในหน่วยบริการ
โดยจากปี 2563 ที่ได้นำร่องบริการคลินิกการพยาบาลฯ จำนวน 6 แห่ง ต่อมาในปี 2564 นำร่องเพิ่มเติมเป็น 28 แห่ง และในปี 2565 ได้ขยายการบริการไปทั่วประเทศ โดยมีคลินิกการพยาบาลฯ สมัครเข้าร่วม 93 แห่ง และขณะนี้ ปี 2566 มีคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ทั่วประเทศร่วมเป็น 'คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น' แล้ว จำนวน 241 แห่ง
สถาบันการศึกษาพยาบาลเข้าร่วม 2 แห่ง
ในจำนวนนี้ มีคลินิกการพยาบาลฯ ที่เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลเข้าร่วม 2 แห่ง คือ
1. คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2564
2. คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2565
นอกจากเป็นสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติที่บูรณาการทั้งการให้บริการ ความรู้ การจัดการดูแลสุขภาพที่เชื่อมโยงชุมชนในพื้นที่หน่วยงานภาครัฐแล้ว นักศึกษาพยาบาลยังเรียนรู้บทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบการทางการพยาบาลในคลินิก ขณะเดียวกันเป็นพื้นที่ให้อาจารย์พยาบาลได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญมาให้บริการประชาชนเป็นการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน และโดยความร่วมมือของสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้มีสถาบันการศึกษาพยาบาลที่สนใจเข้าร่วมเป็นคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ของ สปสช. เพิ่มเติมอยู่ระหว่างดำเนินการ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น ได้รับการตอบรับจากประชาชนเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลปี 2566 ที่ผ่านมา มีประชาชนเข้ารับบริการถึงจำนวน 51,677 คน 140,695 ครั้ง และมีแนวโน้มการรับบริการที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยคลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่นตั้งอยู่ในชุมชน จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใกล้บ้าน ใกล้ใจของประชาชนในพื้นที่ สะดวกในการเข้ารับบริการ ไม่ต้องรอคิวนาน ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ทั้งนี้ สปสช. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของคลินิการพยาบาลชุมชนอบอุ่น เพื่อเป็นช่องทางที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิและบริการในระบบบัตรทอง 30 บาท เพิ่มขึ้น รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ติดบ้าน และติดเตียง ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของประเทศตามรัฐธรรมนูญ
เสริมสุขภาพ-ป้องกันโรค 7 รายการ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับการให้บริการโดยคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นนั้น เป็นการให้บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ครอบคลุมทั้งบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 7 รายการ ได้แก่
1. บริการฝากครรภ์ในกรณีแพทย์วินิจฉัยแล้วไม่ใช่ครรภ์เสี่ยง
2. บริการจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด
3. บริการถุงยางอนามัย
4. บริการทดสอบการตั้งครรภ์
5. บริการตรวจหลังคลอด
6. บริการยาเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก (ยาเม็ดรวม Ferrofolic หรือที่เทียบเท่า)
7. บริการคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต
บริการผู้ป่วยนอก 4 รายการ
นอกจากนี้ ยังให้บริการผู้ป่วยนอก 4 รายการ ดังนี้
1.การบริการยาตามแผนการรักษาของหน่วยบริการประจำ หรือ หน่วยบริการที่รับการส่งต่อ
2.การบริการพยาบาลพื้นฐาน ได้แก่ บริการทำแผลชนิดต่างๆ ทั้งแผลแห้ง แผลเย็บ แผลเปิด แผลติดเชื้อ และแผลขนาดใหญ่ การใส่สายยางให้อาหาร และการให้สายสวนปัสสาวะ รวมถึงบริการเช็ดตาล้างตาและล้างจมูก
3.การบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการที่บ้าน 3 กลุ่ม
- กลุ่มผู้ป่วยที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง หญิงหลังคลอดที่มีภาวะ แทรกซ้อน มารดาหลังคลอดส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เยี่ยมไม่เกิน 4 ครั้งต่อคนต่อปี
- กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ มีปัญหาในการปฏิบัติตน เยี่ยมไม่เกิน 6 ครั้งต่อคนต่อปี
- กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและมีการไร้ความสามารถเล็กน้อย ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหา ในการทำกิจวัตรประจำวัน ต้องพึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ผู้ป่วยที่ใส่สายยางให้อาหาร หรือ สายสวนปัสสาวะ หรือ ล้างไตทางช่องท้อง เยี่ยมไม่เกิน 8 ครั้งต่อคนต่อปี
และ 4.การตรวจรักษาโรคเบื้องต้น