ผู้การทางหลวงขู่จับลูกน้องเอี่ยวสติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุก
ผู้การทางหลวงเผยผบ.ตร.สั่งตั้งคณะทำงานสอบ"สติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุก"แฉเบื้องหลังภาคเอกชน-กลุ่มผู้ประกอบการ รวมกลุ่มทำสติ๊กเกอร์เอง ชี้ต้นเหตุเกิดจากการบรรทุกเกินน้ำหนัก ต้องแก้ภาพรวม เล็งยึดรถผู้ประกอบหากบรรทุกเกินให้กลัวไม่กล้ากระทำผิด
จากกรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้รับทราบแล้ว ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้กองบังคับการตำรวจทางหลวง ดำเนินการตรวจสอบโดยด่วน ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีการกระทำผิดในรูปแบบส่วยทางหลวงตามที่ปรากฎตามข่าวหรือไม่ หากมีความผิดก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ด้าน พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล. เปิดเผยว่า หลังจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้กองบังคับการตำรวจทางหลวง ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ หากพบว่ามีผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดกฏหมาย ก็จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงหากมีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากการดำเนินการทางกฏหมายแล้ว ก็ต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วยอย่างเคร่งครัด โดยยืนยันว่าจะทำอย่างจริงจังแบบถอนรากถอนโคน
"เรื่องของสติกเกอร์หรือป้ายต่างๆ จากข้อมูลที่ได้มีการประสานกับสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มาก่อนหน้านี้ ก็พบว่ามีภาคเอกชน และ กลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง ได้รวมกลุ่มกันจัดทำสติกเกอร์หรือป้ายต่างๆ แต่ที่ต้องมาตรวจสอบดูก็คือ เรื่องดังกล่าวมีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ถ้าหากพบก็ต้องดำเนินการ ซึ่งก่อนหน้านี้ ยังไม่มีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่กระทำความผิด แต่หากประชาชนมีข้อมูลเบาะแสก็สามารถส่งเข้ามาให้ตรวจสอบได้ ยืนยันว่ากองบังคับการตำรวจทางหลวงจะทำอย่างเต็มที่"
พล.ต.ต.เอกราช ระบุว่า ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาเรื่องส่วย เป็นปัญหาที่มีมานาน แต่เรื่องส่วย คือปลายเหตุ ปัญหาที่เป็นต้นเหตุก็คือเรื่องรถบรรทุกหนักเกินกำหนด จึงมองว่าการแก้ไขจำเป็นต้องแก้ในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องการแก้กฎหมาย โดยในปัจจุบัน กฎหมายให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการรถบรรทุก ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบ จึงเกิดการกระทำความผิดซ้ำ
“ อาจต้องพิจารณาเรื่องการแก้ไขกฎหมาย เช่น หากจับรถบรรทุก 1 คัน พบว่าบรรทุกหนักเกิน 20% ก็ให้สั่งยึดรถของผู้ประกอบการรายดังกล่าวทุกคัน เชื่อว่าคงสามารถยึดรถบรรทุกได้หลายหมื่นคัน ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด รวมถึงอาจต้องย้อนถามไปยังสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยด้วยว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเห็นแก่ตัวจนต้องบรรทุกหนักเกินกำหนด ก็ต้องไปแก้ไขในมิติอื่นๆ ด้วย”
พล.ต.ต.เอกราช กล่าวอีกว่า ในวันนี้ เวลา 13.00 น. ได้เรียกผู้กำกับการและสารวัตร ของสถานีตำรวจทางหลวงทั่วประเทศ เข้ามาประชุมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการกำหนดทิศทางการทำงาน
“ยืนยันว่ากรณีดังกล่าว หากมีเจ้าหน้าที่คนใดกระทำความผิดก็ต้องรับผิดชอบผลการกระทำของตัวเอง จะมาอ้างว่าอาชีพตำรวจไม่พอกินไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ให้ไปเลือกอาชีพอื่น ไม่ใช่มาใช้อาชีพตำรวจไปหากิน ขอให้ความมั่นใจในฐานะผู้นำของกองบังคับการตำรวจทางหลวงว่าจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด”
ทั้งนี้หากประชาชนมีเบาะแสหรือ ต้องการร้องเรียน สามารถแจ้งได้ที่เฟซบุ๊กตำรวจทางหลวงได้ตลอดเวลา