posttoday

มข.คว้ารางวัล! คิดค้น “แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากแกลบ-ขยะโซลาร์เซลล์”

11 ตุลาคม 2566

มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2566 จากการคิดค้นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ ลดนำเข้าตปท. ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดพิธีมอบรางวัล “นวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566” โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ จากผลงาน “แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์” โดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม และวิสาหกิจ พร้อมด้วย รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์แบตเตอรี่และพลังงานใหม่ เข้ารับรางวัลชนะเลิศ  โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้ 

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ประธานหลักสูตร กล่าวว่า “แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์” เป็นการนำแกลบและขยะโซลาร์เซลล์มาผลิตเป็นวัสดุที่ชื่อว่า วัสดุนาโนซิลิกอน ซึ่งสามารถใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนได้ รวมถึงแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ โดยเซลล์แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนที่ผลิตได้มีความจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15% ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีระยะการขับเคลื่อนได้ไกลขึ้น มีความปลอดภัยสูงขึ้น และรองรับการชาร์จเร็วกว่าเดิม 4 เท่า ส่งผลให้เกิดการนำเอาสิ่งของที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สมัยใหม่ได้อย่างครบวงจร ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นของที่มีมูลค่าต่ำให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยที่มูลค่าเหล่านั้นจะต้องสามารถสร้างประโยชน์และสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวนา จากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ รวมถึงสามารถลดการทำเหมืองในรูปแบบเดิม ลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และหยุดการฝังกลบแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะนำไปสู่การรีไซเคิลขยะโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสม และสามารถใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืนรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ