posttoday

ประธาน อบก ยกระดับคาร์บอนเครดิตไทย สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน

03 มิถุนายน 2567

"พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์" ประธาน อบก เน้นยกระดับคาร์บอนเครดิตไทย สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืนสู่อนาคต สนองนโยบายรองนายกรัฐมนตรี "พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ"

     ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 23 เมษายน ศกนี้ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ได้มอบนโยบายแก่คณะกรรมการชุดใหม่และคณะผู้บริหาร อบก ดังนี้

     อบก เป็นหน่วยงานปฏิบัติการ ที่จะต้องสนองนโยบายรัฐบาล และนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เพื่อให้การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส

     ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี ขอชมเชย อบก ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตของไทยให้เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับ โครงการ T-VER และ Premium T-VER กว่า 400 โครงการได้รับการรับรองและก่อให้เกิดคาร์บอนเครดิตได้ไม่ต่ำกว่า 18 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ให้การรับรองการใช้เครื่องหมาย Carbon Footprint ให้กับองค์กรและผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนกว่า 10,000 รายการ ซึ่งทำให้บริษัทและสินค้าและบริการของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

     แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ภารกิจข้างหน้าของ อบก ยังมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง Carbon Pricing ยังเป็นคำตอบสุดท้ายของการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero Emissions ตลาดคาร์บอนของไทยยังมีขนาดเล็กและขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อเตรียมการรองรับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอันใกล้ อบก จะต้องมุ่งเน้นภารกิจ ดังนี้

     ประการแรก ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อบก. จะต้องทำหน้าที่สร้างการรับรู้และการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ในภาคเกษตร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แล้ว ยังจะเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตของภาคเกษตรกรรมให้มีผลผลิตทางการเกษตรด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย

     ประการที่สอง สนับสนุนการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจก นับวันโครงการดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นโครงการพลังงานทดแทน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ก็จะเริ่มมีข้อจำกัดในการลดก๊าซเรือนกระจก แต่เทคโนโลยีใหม่ได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีดูดกลับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage-CCS) แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วและมีความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิค แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนที่สูงและระเบียบข้อบังคับ คาร์บอนเครดิตที่มีราคาเหมาะสมและการสนับสนุนจากภาครัฐจะทำให้โครงการเหล่านี้มีความเป็นไปได้ทางการเงินการลงทุน

     ประการที่สาม การจัดการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะด้านการลดก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคธุรกิจและประชาชนในวงกว้างให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ในสภาวะแวดล้อมของโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการสร้างเครือข่าย (Networking) ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ และทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อยกระดับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่ทุกภาคส่วน และเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากรของ อบก. หากเป็นไปได้ควรพิจารณาการบริหารจัดการภารกิจการฝึกอบรมร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

     ประการที่สี่ สถาบันการเงินและตลาดทุนมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างสภาพคล่องให้ตลาดคาร์บอนและจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ให้ก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียวและการลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ รวมทั้งกองทุน ESG สินเชื่อสีเขียว และ Green Bonds ในตลาดเงินตลาดทุน และ หาก อบก. สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้ด้วยคาร์บอนเครดิตก็จะช่วยสร้างเงื่อนไขและต้นทุนการดำเนินงานที่ผ่อนปรนยิ่งขึ้น

     ประการสุดท้าย ประเทศไทยมีศักยภาพที่ควรต้องพัฒนาไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนในระดับภูมิภาค (Carbon Trading Hub) และ อบก. จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การสร้างความเชื่อมโยงของตลาดคาร์บอนข้ามพรมแดน รวมทั้งการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ