posttoday

สทนช.ผันมวลน้ำจากแพร่ป้องกันพิษณุโลก-สุโขทัยท่วม

24 สิงหาคม 2567

สทนช.คาดแพร่กลับสู่ภาวะปกติอีก2วัน วางแผนจัดการลุ่มน้ำยม - น่าน ป้องกันมวลน้ำกระทบพื้นที่ พิษณุโลก สุโขทัย เจาะขยายทางรถไฟเพิ่มประสิทธิภาพการระบาย แจ้งเตือนเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวได้ทันเวลา ก.ย.67ฝนตกหนักมากกว่าปกติ เตือนริมตลิ่งเร่งเก็บของขึ้นที่สูง

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม – น่าน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณตัวเมืองสุโขทัยเพราะมีมวลน้ำกำลังไหลลงมาจากจ.แพร่ 

จะมีการบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำไปยังลุ่มน้ำน่าน ในกรณีมวลน้ำมาเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) จะระบายน้ำไป ทางฝั่งขวา คลองน้ำโจน ในอัตราสูงสุด 30 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ระบายน้ำไปทางฝั่งซ้าย ทางคลองยม – น่าน ในอัตราสูงสุด 300 ลบ.ม. ต่อวินาที และจะระบายน้ำผ่านทางคลองยมสายเก่า ในอัตราสูงสุด 200 ลบ.ม. ต่อวินาที 

สทนช.ผันมวลน้ำจากแพร่ป้องกันพิษณุโลก-สุโขทัยท่วม

ทั้งนี้ สทนช.ประสานไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยแก้ปัญหาทางรถไฟกีดขวางทางน้ำขุดเจาะขยายทางรถไฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น

ส่วนพื้นที่การเกษตร ให้ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย เร่งประชาสัมพันธ์ในพื้นที่เสี่ยงให้เกษตรกรสามารถเร่งเก็บเกี่ยวได้ทันเวลา สนับสนุนกำลังคนและเครื่องจักรเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย 

ส่วนของการการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ทุ่งบางระกำจะมีการผันน้ำเข้าทุ่งระยะนี้เพียง 30 – 40 % ของพื้นที่ เพื่อเตรียมพื้นที่ สำหรับรองรับมวลน้ำกรณีมีฝนตกหนักในช่วงหลังจากนี้

ที่ จ.แพร่ ระดับน้ำเริ่มทยอยลดลง โดยจะเร่งระบายน้ำโดยเร็วที่สุดคาดว่าจะเริ่มกลับสู่สภาวะปกติใน 2 วัน

สทนช.ผันมวลน้ำจากแพร่ป้องกันพิษณุโลก-สุโขทัยท่วม

กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในช่วงเดือน ก.ย. 67 มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนตกหนักมากกว่าค่าปกติให้กรมชลประทานเร่งพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่สองเตรียมรองรับมวลน้ำ ส่วนประชาชนผู้อยู่อาศัยบริเวณริมน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำขอให้ยังคงยกของขึ้นที่สูงไว้จนถึงช่วงกลางเดือนก.ย. 67 

สถานการณ์น้ำท่วม ประจำวันที่ 23สิงหาคม 2567 มีพื้นที่ประสบภัย ได้แก่ 

  1. จ.เชียงราย (อ.เวียงชัย เชียงแสน ป่าแดด พญาเม็งราย แม่สาย แม่จัน เทิง เชียงของ เวียงแก่น เวียงป่าเป้า และขุนตาล)
  2. จ.เชียงใหม่ (อ.แม่แตง) 
  3. จ.น่าน (อ.เชียงกลาง เวียงสา ทุ่งช้าง บ้านหลวง ท่าวังผา นาน้อย ภูเพียง ปัว เมืองฯ บ่อเกลือ และเฉลิมพระเกียรติ) 
  4. จ.พะเยา (อ.เมืองฯ ภูซาง ดอกคำใต้ เชียงม่วน เชียงคำ และปง) 
  5. จ.แพร่ (อ.ร้องกวาง สอง เมืองฯ สูงเม่น และหนองม่วงไข่) 
  6. จ.เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ วังโป่ง และชนแดน) 
  7. จ.อุดรธานี (อ.เมืองฯ ไชยวาน เพ็ญ หนองหาน และกู่แก้ว)