น้ำท่วม67: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปรับแผนระบายน้ำรับพายุไต้ฝุ่นยางิ
เตรียมรับมวลน้ำเหนือ! สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปรับแผนระบายน้ำรับพายุไต้ฝุ่นยางิที่คาดว่าจะขึ้นฝั่งเวียดนามวันนี้ ส่งผลให้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ก.ย.67 เวลา 7.00 น.
1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.ลำพูน (86 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อำนาจเจริญ (98 มม.) ภาคกลาง : จ.ลพบุรี (1 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (63 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (16 มม.) ภาคใต้ : จ.ปัตตานี (100 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ :ช่วงวันที่ 9 - 12 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง
พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” (YAGI) บริเวณอ่าวตังเกี๋ย คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกว๋างนินห์ ประเทศเวียดนาม ในวันนี้ (7 ก.ย. 67) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชันตามลำดับทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย. 67
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 63% ของความจุเก็บกัก (51,031 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 46% (26,851 ล้าน ลบ.ม.)
3. สทนช.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่.1 ก.ย. 67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3 – 9 ก.ย. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
3.1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
3.2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
3.3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
4. สถานการณ์น้ำ : วานนี้ (6 ก.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออก ณ จ.พระนครศรีอยุธยาและจ.ฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่สำรวจตลอดแนวคลองระพีพัฒน์ โดยติดตามสถานะความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีตป้องกันท่อส่งก๊าซธรรมชาติ RC060 เพื่อเร่งรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งตรวจความพร้อมของจุดเสริมคันกั้นน้ำคลองระพีพัฒน์แยกใต้ฝั่งซ้ายรังสิตเหนือ และตรวจความแข็งแรงและศักยภาพการระบายของประตูระบายน้ำศรีเสาวภาคย์ และประตูระบายน้ำท่าถั่ว โดย เลขาธิการ สทนช. ได้ให้ข้อแนะนำแนวทางการปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อเตรียมรองรับมวลน้ำจากภาคเหนือที่เกิดจากปริมาณฝนที่คาดการณ์ว่าจะตกเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 11 - 15 กันยายนนี้
5. สถานการณ์อุทกภัย : วันที่ 6 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.ขุนตาล และพญาเม็งราย) จ.สุโขทัย (อ.สวรรคโลก ศรีสำโรง คีรีมาศ และกงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางกระทุ่ม บางระกำ เมืองฯ และ อ.ชาติตระการ) จ.นครสวรรค์ (อ.ชุมแสง) จ.อ่างทอง (อ.โพธิ์ทอง วิเศษชัยชาญ แสวงหา และป่าโมก) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา บางบาล ผักไห่ บางไทร พระนครศรีอยุธยา และบางปะอิน)