posttoday

เกาะติดมวลน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาผ่านนครสวรรค์2,052 ลบ.ม./วินาที

01 ตุลาคม 2567

เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการกระบายน้ำคงที่ ระดับ 1,899 ลบ.ม./วินาที แต่ปริมาณน้ำเหนือไหลผ่าน สถานี C2 เพิ่มขึ้นที่ระดับ 2,052 ลบ.ม./วินาที สนทช.เร่งผันน้ำทิศตะวันออก ทิศตะวันตก เผื่อกรณีเกิดพายุหรือร่องมรสุมในช่วงต่อไป

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำ อัตรา 1,899 ลบ.ม./วินาที ขณะที่เมื่อวานนี้ (30 กันยายน 2567) ระบายน้ำ อัตราเท่ากันระดับ 1,899 ลบ.ม/วินาที แต่น้ำเหนือไหลผ่าน สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์  2,052 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้เล็กน้อย ซึ่งมีปริมาณไหลผ่านที่ 1,995 ลบ.ม./วินาที

กรมชลประทาน
รายงานสถานการ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา 1 ต.ค.67 เวลา 07.00 น.

สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์
ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,052 ลบ.ม./วินาที
แนวโน้ม : เพิ่มขึ้น
ระดับน้ำ : เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 2.74 ม.

สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท
ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,899 ลบ.ม/วินาที
แนวโน้ม : ทรงตัว
ระดับน้ำท้ายเขื่อน : ต่ำกว่าตลิ่ง 2.15

เทียบกับการระบายน้ำ เมื่อ30 ก.ย.67 เวลา 07.00 น.
 
สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์
ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,995 ลบ.ม./วินาที
แนวโน้ม : เพิ่มขึ้น
ระดับน้ำ : เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 15 ซม. แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 2.90 ม.
สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท
ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,899 ลบ.ม/วินาที
แนวโน้ม : ทรงตัว
ระดับน้ำท้ายเขื่อน : ต่ำกว่าตลิ่ง 2.15 ม.
 

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า วันที่ 30 ก.ย. - 5 ต.ค.67 บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ 

ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา/แม่น้ำน้อย และพื้นที่เสี่ยง บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ

คลองโผงเผง จ.อ่างทอง
คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
ต.หัวเวียง อ.เสนา , ต.ลาดชิด , ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ. พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

เฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด

หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยากรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป
 

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง  รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในลุ่มน้ำต่างๆ มีดังนี้ 

ลุ่มน้ำปิง วันนี้เขื่อนภูมิพลได้ลดการระบายน้ำเหลือเพียงวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 1% เท่านั้น ส่งผลให้แม่น้ำปิงที่สถานี P.17 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 678 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือเพียง 23% ของความจุเท่านั้น 

ที่ลุ่มน้ำวัง มีเขื่อนสำคัญ ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา ปริมาณน้ำอยู่ที่ 167 ล้าน ลบม. คิดเป็น 98% และเขื่อนกิ่วลมปริมาณน้ำอยู่ที่ 68 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% จึงยังคงมีการระบายเพื่อพร่องน้ำออกอย่างต่อเนื่องแต่อยู่ในจุดที่พื้นที่ท้ายเขื่อนยังรองรับได้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำวังอยู่ที่ 88% และจะลดลงตามลำดับ 

ลุ่มน้ำยม ตามที่ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ จ.แพร่ และสุโขทัย ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำล้นตลิ่งนั้น ขณะนี้สถานการณ์ลดความรุนแรงลงตามลำดับแล้ว โดยปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำยมที่สถานี Y.14 A อยู่ที่ 497 ลบ.ม./วินาที คิดเป็น 25% 
ลุ่มน้ำน่าน ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ 8,626 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% ขณะนี้มีการระบายน้ำอยู่ที่วันละ 15 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งวันนี้จะปรับลดการระบายเหลือ 10 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปริมาณน้ำในทุ่งบางระกำสามารถไหลลงสู่แม่น้ำน่านได้ ส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำยมดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไปด้วย  

ทั้งนี้ มีการปรับลดการระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะแม่น้ำท่าจีน เพื่อช่วยลดผลกระทบในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี และนครปฐมที่คาดว่าจะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ในช่วงต่อไปได้ สำหรับฝั่งตะวันออกได้มีการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 614 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 64% นั้น เพียงพอแล้วจึงต้องเตรียมพื้นที่ไว้รองรับเผื่อกรณีเกิดพายุหรือร่องมรสุมในช่วงต่อไปด้วย 

เกาะติดสถานการณ์ ระบายน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา