posttoday

"rain bomb" ทำน้ำท่วมเชียงใหม่ ดร.ธรณ์ แนะวงการศึกษาไทยสอนรับมือภัยพิบัติ

06 ตุลาคม 2567

“ดร.ธรณ์” ชี้ข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากศูนย์อุตุ บ่งบอก rain bomb ทำให้เกิดน้ำท่วมเชียงใหม่ แนะวงการศึกษาไทยสอนรับมือภัยพิบัติ เหมือนประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่เจอภัยพิบัติเป็นประจำ ย้ำไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด

          ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวด้านนิเวศทางทะเล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า เพิ่งมีเวลาว่างจึงอยากเล่าเรื่องโลกร้อนกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจนเกิดภัยพิบัติถี่ๆ ให้เพื่อนธรณ์เข้าใจ

          อันดับแรก คือ ลานินญา บางคนคิดว่าเราโดนแบบนี้ เพราะลานินญารุนแรง อันที่จริง โลกยังอยู่ในสภาวะเป็นกลาง เพิ่งแตะๆ ลานินญาในช่วงเดือนสองเดือนนี้

          โอกาสที่จะเข้าลานินญาจะเพิ่มขึ้นจากตุลาไปถึงกุมภา ปีหน้า แต่ก็ไม่ได้ชัดเจนมากนัก 

          WMO (อุตุโลก) บอกว่า โลกร้อนขึ้นอย่างเร็ว เอลนีโญหรือลานินญา ส่งผลเป็นช่วงๆ แต่ไม่มีผลต่อระยะยาว ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นจนทำลายสถิติต่อเนื่อง แม้จะมีลานินญา (2020-2022) ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก ช่วงนั้นมีแม้กระทั่งปะการังฟอกขาวครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดในปีลานินญา (ออสเตรเลีย) สิ่งที่เราเจออยู่นี้จึงเป็นสภาพความแปรปรวนของโลกร้อน มิใช่เพียงแค่ปรากฏการณ์ปรกติของโลก 

          WMO ระบุว่า ช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา โลกอยู่ในภาวะเป็นกลางที่ควรสุขสงบ แต่เรากลับเจอภัยพิบัติจาก extreme weather แบบไม่ยั้ง

          เมื่อลองดูพยากรณ์ฝนโลก ช่วงที่ผ่านมา เราจะมีฝนมากกว่าปรกติ (เขียวอ่อน) ถ้าเป็นแค่นั้นคงพอรับได้ แต่ฝนยุคโลกร้อนไม่ตกทั่วฟ้า เขียวอ่อนไม่ได้หมายความว่ากระจายไป บางจุดอาจมีฝนถล่มแบบไม่ยั้งในพื้นที่เล็กๆ เป็นลักษณะแบบ rain bomb ที่บางทีไม่ได้มากับไต้ฝุ่นหรือพายุรุนแรงด้วยซ้ำ เป็นแค่สภาพภูมิอากาศแปรปรวนก็เกิดได้

          ข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากศูนย์อุตุ คงบอกสภาพของ rain bomb ที่เกิดขึ้นจนเกิดน้ำท่วมเชียงใหม่ได้ดี สังเกตสีม่วง ฝนตกเกิน 100 มม. ในพื้นที่สูงเหนือเชียงใหม่ ทั้งแม่แตง เชียงดาว แม่ริม ฯลฯ น้ำมหาศาลจึงไหลเข้าที่ราบอย่างเร็ว เพราะฝนตกอยู่บนป่าเขาข้างเมือง แทบไม่มีเวลาเตรียมตัวติดตามรับมือกับมวลน้ำ น้ำท่วมลักษณะนี้มาเร็วไปเร็ว เป็นรูปแบบของ extreme weather ในยุคนี้ ที่เราจะเจอบ่อยขึ้นเรื่อย

          ความยาก คือ การทำนายล่วงหน้านานๆ ทำยากมาก ไม่เหมือนกับไต้ฝุ่นหรือพายุโซนร้อน เรามีเวลาตามดูเส้นทางพายุ แต่ถ้าเป็นแบบเชียงใหม่ จะไม่พบพายุมาแต่ไกล แต่จู่ๆ ก็เจอ rain bomb 

\"rain bomb\" ทำน้ำท่วมเชียงใหม่ ดร.ธรณ์ แนะวงการศึกษาไทยสอนรับมือภัยพิบัติ
 

          แล้วเราจะรับมือได้อย่างไรบ้าง ?

          คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องหาทางเตรียมตัวไว้ เพราะยุคโลกร้อน อดีตไม่ได้บ่งบอกถึงปัจจุบันและอนาคต เมื่อเกิด rain bomb คนบนเขาจะเสี่ยงสุด เพราะแทบเตือนล่วงหน้าไม่ได้ว่าน้ำจะบ่าไปทางไหน เมื่อไหร่ ฝนตกปุ๊บก็มาทันที

          คนพื้นล่างยังมีเวลา 1-2 วัน มีการเตือนภัยก่อนแม้กระชั้นชิด ก็ยังพอรู้ แต่บางทีเราอาจวางใจ คิดว่าคงเหมือนครั้งก่อน 

          จึงอยากเน้นย้ำว่า extreme weather ไม่ใช่ฝนปรกติ แต่ละครั้งละหน มันไม่เหมือนกัน ไม่งั้นจะเรียกว่า “สุดขีด” ได้อย่างไร

          อีกอย่างที่อยากเน้น คือ บ้านเราไม่ท่วม ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นไร ที่ผ่านมาพื้นที่บนดอยหลายแห่งโดนตัดขาด ไม่มีไฟฟ้า โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ ทางขาด หรือแม้แต่ในเมือง เราอาจติดค้างอยู่ในบ้าน น้ำเชี่ยว ออกไม่ได้ ไม่มีอาหาร/น้ำดื่ม

          พี่ๆ กู้ภัยและเจ้าหน้าที่ พยายามเต็มที่ แต่เมื่อความเดือดร้อนมาพร้อมกัน มันย่อมยากรับมือ 

          สายเต็ม รับข้อความไม่ทัน น้ำมาแรง พาหนะธรรมดาเข้าไม่ได้ ต้องใช้เรือเท่านั้น ทุกอย่างมันยากในยามฉุกเฉิน จึงบอกเพื่อนธรณ์อยู่เสมอ ประเมินความเสี่ยง เตรียมการอย่างรอบคอบ น้ำสักขวด อาหารแห้งสักลัง อาจมีความหมายมากมายในยามนั้น
ไม่มีใครอยากทิ้งบ้าน แต่ในยามที่ประเมินแล้วว่าไปต่อไม่ไหว เราต้องรีบถอยแต่เนิ่นๆ ไม่งั้นเราจะติด อยากถอยก็ถอยไม่ได้

          ผมคิดว่าวงการศึกษาบ้านเราต้องอัปเกรดครั้งใหญ่ เคยให้ความเห็นไปหลายครั้งเมื่อมีผู้เกี่ยวข้องโทรมาสอบถาม สอนลดโลกร้อนเป็นเรื่องดี สอนเรื่องรักธรรมชาติปลูกต้นไม้ก็ยิ่งดี แต่สอนเรื่องรับมือภัยพิบัติ เป็นความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับโลกยุคนี้

          สอนเรื่องการติดตามปริมาณน้ำ ระดับน้ำ ดูแผนที่พยากาณ์อากาศผ่านแแอป พื้นที่น้ำเอ่อล้นง่าย เขตดินสไลด์ ฯลฯ จำเป็นมากๆ สำหรับยุคโลกโคตรร้อน

          เราอาจต้องเริ่มทำตามประเทศที่เจอภัยพิบัติเป็นประจำ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน พยายามทำให้คนไทยตื่นตัวและฝังหัวเรื่องภัยพิบัติตั้งแต่เด็กๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

          อย่าลืมว่า ไทยติดอยู่ใน 1 ใน 10 ของประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด (น้ำท่วม) ข้อความนี้ไม่ได้มีไว้ให้ตกใจ แต่มีไว้เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

          น้ำในเชียงใหม่คงลดลงช้าๆ เราเข้าสู่ปลายหน้าฝนในภาคเหนือแล้ว หวังว่าคงไม่มีฝน rain bomb ถล่มลงมาอีก น้ำไหลลงปลายน้ำ เขื่อนภูมิพลยังพอรับได้ บ้านเรือนริมแม่น้ำคงเจอน้ำเอ่อล้นตลิ่ง แต่เป็นสภาพที่เจอกันทุกปี อย่างน้อยปลายน้ำก็รู้ล่วงหน้า ทราบปริมาณน้ำที่ค่อยๆ ทยอยลงมา ผิดจากต้นน้ำที่มีเวลาสั้นมากในการรับรู้ เป็นพื้นที่ต้องเตรียมตัวระยะยาวมากกว่า

          เน้นย้ำว่า ที่ผ่านมาโลกยังเป็นแค่กึ่งลานินญา ในอนาคตต่อไป หากเราเข้าลานินญาเต็มๆ เหมือนช่วงปี 2020-2022 สถานการณ์อาจดุเดือดกว่านี้ โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ ลานินญาแบบแรงๆ จะมาอีกแน่นอน สิ่งที่เกิดวันนี้ จะมีโอกาสเกิดอีกในวันหน้า

          ส่งกำลังใจให้คนเชียงใหม่ทุกท่าน หลายเรื่องที่เกิดเป็นประสบการณ์สำคัญ หากมีคราวหน้า 

          น้ำน่าจะเริ่มลดลงช้าๆ ลมหนาวกำลังจะมา อีก 2 เดือน ขอเชิญชวนเพื่อนธรณ์ไปท่องเที่ยวสนับสนุนพื้นที่เจอผลกระทบในภาคเหนือกันครับ