posttoday

ผลสอบ อนุเนื้อหา กสทช. ปมแม่หยัวใช้ยาสลบแมว ยังไม่มีข้อยุติ

14 พฤศจิกายน 2567

ผลถกแม่หยัว ปมยาสลบแมว ไร้ข้อยุติ อนุฯเนื้อหากสทช. หารือร่วม One และสัตวแพทยสภา กำชับคำนึงสวัสดิภาพสัตว์ 15พ.ย.67 เตรียมจัดเวทีเสวนาส่งเสริมความตระหนักรู้และมาตรฐานจริยธรรม

สืบเนื่องจากละครเรื่องแม่หยัวของช่อง One ที่มีฉากแมวกินน้ำผสมยาพิษจนตาย และต่อมาปรากฏข้อมูลจากผู้ร่วมแสดงในฉากดังกล่าวและผู้กำกับละครว่าทางผู้ผลิตละครได้มีการทำให้แมวสลบโดยการใช้ยา และแมวไม่ได้ตายจริง จนนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ว่าอาจเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์หรือไม่นั้น

ที่สำนักงาน กสทช. ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนิเทศศาสตร์ กฎหมาย รัฐศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ และมี ศ.กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากช่อง One เข้าชี้แจง และนายสัตวแพทย์ วริทธิ์วงศ์ ลิขิตชัยกุล รองเลขาธิการสัตวแพทยสภา เข้าร่วมให้ข้อมูลในการประชุมด้วย

คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้ คือการนำเสนอเนื้อหาอันอาจเข้าข่ายเป็นการทารุณกรรมสัตว์ผ่านสื่อ  กระบวนการผลิตเนื้อหาที่มีการวางยาสลบในสัตว์ซึ่งต้องมีการดูแลโดยสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญตลอดจนการใช้ยา และการคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ซึ่งถูกรับรองไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 

หลังได้รับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงแล้ว คณะอนุกรรมการฯได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กสทช. ไปศึกษาประเด็นด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งนี้ ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นข้อยุติใดๆ ในชั้นนี้ เพราะจะต้องมีการพูดคุยและหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆตลอดจนผู้ที่บังคับใช้กฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องประกอบอีก
 

“การนำเสนอเนื้อหาในสื่อ หากเป็นภาพที่สะเทือนใจก็ย่อมสร้างผลกระทบต่อผู้ชม อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตก็จำเป็นต้องมีความรอบคอบ คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์อย่างเต็มที่เช่นกัน นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตเนื้อหาและสังคมไทยต้องตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น” กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าว

ในวันที่ 15 พ.ย.67 สำนักงาน กสทช. จะจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองบนมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรสื่อที่เป็นผู้รับใบอนุญาตของ กสทช. โดยเฉพาะในการผลิตเนื้อหาหรือกระบวนการได้มาซึ่งเนื้อหา และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นการใช้สัตว์ในเนื้อหารายการ ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด