posttoday

“รัศม์ ชาลีจันทร์” ลั่นปม MOU44 ต้องรักษาผลประโยชน์ชาติ-ประชาชน

19 พฤศจิกายน 2567

ผู้ช่วย รมต.กต.ย้ำการยกเลิก MOU44 ไม่ทำให้จบปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย ย้ำการดำเนินการตาม MOU44 เป็นแนวทางที่ดีที่สุด

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับ ''ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่น ถึงพื้นที่การอ้างสิทธิทับซ้อน หรือ Overlapping Claims Area: OCA ระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เกิดขึ้นจากการประกาศอ้างสิทธิเขตแดนของแต่ละฝ่าย  ถึงกรณีที่มีผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU44 ว่า การยกเลิก MOU44 ก็ไม่ได้ทำให้การอ้างสิทธิของกัมพูชายกเลิกไปด้วย และปัญหาก็ยังคงอยู่  

 

MOU44 เป็นเพียงกรอบและกลไกเพื่อทำให้เกิดการเจรจา และการตั้งคณะทำงานขึ้นมา และ MOU44 ได้บัญญัติให้มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ทั้งประเด็นเขตทางทะเล และประเด็นการเจรจาการใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ จะต้องเจรจาไปพร้อม ๆ กัน ไม่สามารถแยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต แต่เบื้องต้น ยังไม่มีการตกลงใด ๆ

 

นายรัศม์ ยังย้ำว่า การดำเนินการตาม MOU44 นี้ เป็นแนวทางการดำเนินการที่ดีที่สุดแล้ว ซึ่งในช่วงที่มีความไม่ลงรอยกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการพิจารณาถึงการยกเลิก MOU44 แต่ท้ายที่สุดผลการศึกษา ก็เห็นว่า MOU44 ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาเขตทางทะเล และทรัพยากรในพื้นที่ด้วยกัน และท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีมติให้ใช้ MOU44 เป็นกรอบในการเจรจาต่อ  

“รัศม์ ชาลีจันทร์” ลั่นปม MOU44 ต้องรักษาผลประโยชน์ชาติ-ประชาชน

 

ส่วนถ้าจะไม่ดำเนินการเจรจาแก้ไขปัญหาได้หรือไม่นั้น นายรัศม์ ระบุว่า สามารถได้ และปล่อยให้เป็นปัญหาของรัฐบาลอื่นต่อไป แต่ผลประโยชน์ที่มีใต้ทะเล ก็จะกลายเป็นศูนย์ ซึ่งในอนาคตหากไม่สามารถทำทรัพยากรขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้ ก็จะเป็นการทำลายโอกาสของประเทศ  ซึ่งการเจรจาของไทย โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้กำหนดว่า จะต้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และประชาชนสูงสุด ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และผลการเจรจา จะต้องเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน เพราะท้ายที่สุด ผลการเจรจา จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงจะมีผลทางกฎหมาย ไม่ใช่การตกลงกันเองอย่างลับ ๆ ซึ่งไม่สามารถทำได้

“รัศม์ ชาลีจันทร์” ลั่นปม MOU44 ต้องรักษาผลประโยชน์ชาติ-ประชาชน

ส่วนหากมีการเจรจาแล้ว ระหว่างไทยกับกัมพูชา ฝ่ายใดจะได้เปรียบมากกว่านั้น นายรัศม์ มองว่า การเจรจาจะต้อง WIN-WIN ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ หรือได้เปรียบเกินไป ก็ยากที่จะสำเร็จได้ จึงเป็นหน้าที่ของคนเจรจา เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่สมประโยชน์กัน และเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

 

นายรัศม์ ยังย้ำว่า เกาะกูด เป็นของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ แต่สิ่งที่รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศเจรจา คือ เรื่องทางทะเล ไม่เกี่ยวกับดินแดนบนเกาะกูด ดังนั้น ประเด็นเรื่องเกาะกูดจึงถือว่า จบสิ้นไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้