posttoday

เกาะติดน้ำท่วมภาคใต้ เข้าสู่วันที่13 ตาย29 เดือดร้อน 664,173ครัวเรือน

04 ธันวาคม 2567

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระดมกำลังพลเจ้าหน้าที่-อส.5,592 นายพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์ รวม 6,437 หน่วย เช่น เรือชนิดต่างๆ รถบรรทุกเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย ช่วยเหลือประชาชนประสบภัยพิบัติ น้ำท่วมภาคใต้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานน้ำท่วมภาคใต้ จากสถานการณ์ฝนตกหนักมาก ระหว่างวันที่ 22 พ.ย. - 4 ธ.ค. 2567 เกิดสถานการณ์ในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

ครอบคลุมพื้นที่ 87 อำเภอ 538 ตำบล 3,729 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 664,173 ครัวเรือน รวมมีผู้เสียชีวิต 29 ราย (จ.พัทลุง 2 ราย สงขลา 10 ราย ปัตตานี 7 ราย ยะลา 5 ราย นราธิวาส 4 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย)

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมภาคใต้ ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ 26 อำเภอ 179 ตำบล 1,107 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 155,894 ครัวเรือน (ที่มา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 5 - 11 ธ.ค. 67 ดังนี้

1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ชุมพร ระนอง ภูเก็ต ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 

2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ  จ.ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำ

ขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ปัจจุบันมีระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่มีความเสี่ยง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด และให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเขื่อนด้วย

3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองท่าดี คลองชะอวด แม่น้ำตรัง คลองลำ คลองท่าแนะ คลองอู่ตะเภา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
 

  • นายกฯอิ๊งค์สั่งระดมทุกสรรกำลังช่วยน้ำท่วมภาคใต้

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ตามที่ได้ประกาศแจ้งเตือนว่าจะมีฝนระลอกสองตั้งแต่วันนี้ (3 ธ.ค.)ไปจนถึงวันที่ 5 ธ.ค. ขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมกำลังพลเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครรวม 5,592 ราย พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์ รวม 6,437 หน่วย เช่น เรือชนิดต่าง ๆ 676 ลำ รถบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย 72 คัน เป็นต้น
 
รองโฆษกฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมามีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 10 จังหวัด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง และสตูล ยังเหลือพื้นที่น้ำท่วมใน 6 จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบลดลงจาก 664,173 ครัวเรือน เหลือ 302,982 ครัวเรือน ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
 
“อย่างไรก็ตามเนื่องจากจะมีฝนเข้ามาเติมในพื้นที่ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่ยังมีน้ำท่วมสูง หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงรวม 489 แห่ง รองรับประชาชนได้ 66,800 ราย ซึ่งขณะนี้มีผู้พักพิงในศูนย์ต่าง ๆ รวม 40,768 ราย ส่วนประชาชนที่ไม่ได้อพยพมายังศูนย์พักพิง ได้จัดตั้งโรงครัวและรถประกอบอาหารรวม 23 แห่ง แจกจ่ายอาหารปรุงสุกไปในพื้นที่ที่ยังมีผลกระทบอย่างทั่วถึง” นางสาวศศิกานต์ กล่าว

  • ฝากความห่วงใยกลุ่มเปราะบาง

 
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้ฝากความห่วงใยไปยังกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงและผู้สูงอายูในพื้นที่ประสบภัยที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีอยู่ 18,648 ราย โดยในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคไตที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจำนวน 299 ราย ซึ่งหากเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เสี่ยงน้ำท่วม จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลที่ปลอดภัย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.ติดตามอาการและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
 
“สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยา จะใช้แนวทางเดียวกับการดูแลพี่น้องภาคเหนือ โดยเน้นย้ำให้ลดขั้นตอนลดเอกสารและเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้ถึงมือผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนความเสียหายอื่น ๆ เช่นพื้นที่การเกษตร การประมง และปศุสัตว์ ได้เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์โดยเร็ว” นางสาวศศิกานต์ กล่าว

เครดิตภาพ เพจร่วมด้วยช่วย 3 จว.ชายแดนใต้