posttoday

"ช้างป่าเขาอ่างฤาไน" ตั้งด่านลอย! ดักรถบรรทุกอ้อย เรียกเก็บค่าผ่านทาง

21 ธันวาคม 2567

"ช้างป่า" ตั้งด่านลอยกลางถนนสาย 3259 ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ดักรถบรรทุกอ้อย-มันสำปะหลัง เรียกเก็บค่าผ่านทางสบายใจเฉิบ!

บนถนนทางหลวงหมายเลข 3076 (3259 เดิม) ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่ามีช้างป่าออกมาตั้งด่านลอย เพื่อดักรถบรรทุกอ้อยและมันสำปะหลัง ที่สัญจรผ่านไปมา โดยช้างป่าได้ยืนขวางอยู่กลางถนน ก่อนจะเดินไปข้างๆรถและใช้งวงล้วงอ้อยออกมากินอย่างสบายใจ 

\"ช้างป่าเขาอ่างฤาไน\" ตั้งด่านลอย! ดักรถบรรทุกอ้อย เรียกเก็บค่าผ่านทาง

การศึกษาพบว่าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการขยายตัวของประชากรช้างป่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ขณะที่ในช่วงปี 2561-2566 มีรายงานการพบเห็นช้างป่าออกนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สถานการณ์ช้างป่าออกมาตั้งด่านลอยกลางถนน เกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายประการ เช่น การลดลงของพื้นที่ป่าธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของช้างป่า การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมของมนุษย์ การขยายพื้นที่เกษตรกรรม การบุกรุกป่า และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน 

ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ช้างป่าขาดแคลนอาหารและแหล่งน้ำ จึงต้องออกจากป่าเพื่อมาหากินในพื้นที่ของชุมชนมากขึ้น จนก่อให้เกิดพฤติกรรมการตั้งด่านลอยแบบที่เราพบเห็นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงการขาดแคลนทรัพยากรในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของช้างป่า

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ใช้รถให้ขับด้วยความเร็วที่กำหนดคือ ไม่เกิน 60 กม./ชั่วโมง ที่สำคัญอย่าให้อาหารสัตว์ป่าทุกชนิดเด็ดขาด ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา

\"ช้างป่าเขาอ่างฤาไน\" ตั้งด่านลอย! ดักรถบรรทุกอ้อย เรียกเก็บค่าผ่านทาง

ขับรถเจอช้างต้องทำยังไง?

สำนักอุทยานแห่งชาติ แนะนำ เมื่อเจอช้างป่าขณะขับรถควรข้อปฏิบัติ ดังนี้

  • หยุดรถห่างจากช้างป่าอย่างน้อย 30 เมตร
  • ไม่ส่งเสียงดังด้วยแตรรถหรือตะโกน
  • งดถ่ายรูประยะใกล้และไม่ใช้แฟลช
  • ติดเครื่องยนต์ไว้เสมอ
  • ในเวลากลางคืนให้เปิดไฟต่ำไว้เสมอเพื่อให้เห็นพฤติกรรมช้างป่า
  • ตั้งสติ มองซ้าย ขวา หน้า หลัง
  • ไม่ควรจอดรถดูช้างเพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา
  • โทรแจ้งเจ้าหน้าที่

วิธีสังเกตอารมณ์ช้างป่า 

อารมณ์ดี : หูจะปัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสับัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา

อารมณ์ไม่ดี : หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดไปมา หางชี้ งวงจะนิ่งแข็งแตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา

 

ภาพ ธิติ วรรณมณฑา (Thiti Wannamontha)

#NationPhoto