"ไข้หวัดนกH5N1" รีเทิร์น สหรัฐฯพบรายแรกอาการสาหัส
กรมควบคุมโรค เผย สหรัฐฯพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ที่รัฐลุยเซียนา มีอาการรุนแรงรายแรก มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกในสวนหลังบ้าน
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดนกH5N1 ในต่างประเทศ ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 อาการรุนแรงรายแรก ที่รัฐลุยเซียนา ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 61 ราย
โดยผู้ป่วยเป็นชายสูงอายุ 65 ปี มีโรคประจำตัว ขณะนี้กำลังรักษาตัวในห้องไอซียูด้วยภาวะระบบทางเดินหายใจรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดนก มีประวัติสัมผัสกับนกป่วย และนกตาย บริเวณหลังบ้าน ถือเป็นกรณีแรกที่มีความเชื่อถือได้ว่าจะได้รับเชื้อจากฝูงสัตว์ปีกในบ้าน
จากการตรวจสารพันธุกรรมเบื้องต้นชี้ว่าไวรัส H5N1 ที่ตรวจพบในผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มพันธุกรรม D1.1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับไวรัสในนกป่าและสัตว์ปีกในสหรัฐฯ รวมถึงกรณีพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศแคนาดา และรัฐวอชิงตันสหรัฐอเมริกา
"ไข้หวัดนกเป็นโรคจากสัตว์มาสู่คน เดิมจะพบเชื้อไข้หวัดนกติดในสัตว์ปีก แต่ระยะหลังพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ ในฟาร์มโคนม ฟาร์มหมู ล่าสุดพบในสหรัฐฯ แต่ยังไม่แพร่จากคนสู่คน"
นพ.ภาณุมาศกล่าว
สำหรับประเทศไทย มีการเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดนกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จัดการฝึกซ้อมแผนร่วมกันแบบบูรณาการทั้งหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพคนและสัตว์ จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรคดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีการสำรองวัสดุ อุปกรณ์ ในการป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคไข้หวัดนก พร้อมทั้งเตรียมห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก (H5) ที่ก่อโรคในคนอีกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายใหม่ในประเทศ นับตั้งแต่พบผู้ป่วยรายสุดท้ายในคนในปี 2549”นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าว
ทั้งนี้ แนะนำท่านที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก และมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ภายใน 14 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
ประชาชนควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วย หรือตาย