posttoday

ตำรวจไซเบอร์ เปิดผลสอบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไทย 119 คน พบสมัครใจข้ามแดนไปทำงาน

02 มีนาคม 2568

ผบช.ไซเบอร์ เผยผลสอบกลุ่ม119 คนไทยจากปอยเปต พบสมัครใจข้ามแดนไปทำงาน เดิมจะไปทำเว็บพนัน แต่ถูกให้เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง ทำงานแยกห้องแบ่งประเภทหลอกลวงเหยื่อ มีไม่ต่ำกว่า 20 ห้องในตึก

กรณีคนไทย 119 คนที่ถูกส่งตัวกลับมาจากกัมพูชา และแยกเป็น 112 คน เข้าสู่กระบวนการคัดกรองตามกลไก NRM ภายในสโมสรค่ายสุรสิงหนาถ และอีก 7 คน ถูกนำตัวไปดำเนินคดีตามหมายจับและสอบปากคำที่ สภ.คลองลึก ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ซึ่งกระบวนการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ พม. เสร็จสิ้นแล้ว เหลือกระบวนการซักถามปากคำของทางตำรวจที่คาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 วัน 

โดยช่วงเช้าวันนี้ (2 มี.ค.2568) ตำรวจได้นำตัวคนไทย 112 คนที่อยู่ศูนย์พักคอยภายในค่ายฯ ขึ้นรถบัสทหารมายังสโมสร เพื่อทำการซักถามปากคำเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการแยกสอบรายบุคคล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ก่อนที่จะสรุปผลได้ว่า เป็นเหยื่อหรือเป็นผู้ร่วมขบวนการ

โดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์ ในฐานะคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ที่ได้เดินทางมาร่วมติดตามการสอบสวนข้อเท็จจริงตามกระบวนการ NRM และสอบปากคำผู้ต้องหาตามหมายจับด้วยตนเองตั้งแต่เมื่อวานนี้ บอกว่า 119คน คนไทยที่ถูกส่งกลับ มท. มีหมายจับ 7 คน และในจำนวนนี้ก็มีคนที่ถูกแจ้งความในระบบไทยโพลิสออนไลน์ 10 คน 46 เคสไอดี ทำให้ตำรวจต้องเข้าไปซักถามในคดีอาญาด้วย รวมถึงส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ NRM และร่วมรับฟังการซักถาม 

เบื้องต้นคนที่เกี่ยวข้องในหมายจับ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ 46 เคสที่ถูกแจ้งในระบบ ก็ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยพบข้อมูลว่า สถานที่ที่ทางการกัมพูชาเข้าไปจับกุม เป็นสถานที่ทำการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสอดคล้องกับที่ทางการกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ว่าคนไทย 119 คน ทุกคนสมัครใจไปทำงานที่ปอยเปตและไปทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ ดังนั้นเมื่อถูกผลักดันกลับมา เจ้าหน้าที่ไทยก็จะต้องคัดกรองโดยละเอียดว่า เป็นเหนื่อในการค้ามนัษย์หรือไม่ หรือเป็นผู้ร่วมขบวนการ
 
ทั้งนี้ จากการสอบปากคำกลุ่มที่มีหมายจับและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ 46 เคสที่ถูกแจ้งในระบบ ก็ได้ให้การเป็นประโยชน์ ว่า สมัครใจข้ามไปทำงาน แต่พอไปทำงานอาจจะมีไม่สบายใจอยู่บ้าง แต่ไม่มีการถูกทำร้าย และเดิมบุคคลที่ให้การเป็นประโยชน์รายนี้ ให้การว่า เขาต้องการไปสมัครงานเป็นแอดมินเว็บพนัน แต่พอไปถึงจึงรู้ว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 

โดยตัวบุคคลนี้ ถูกให้ทำหน้าที่ในการหลอกลวงเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง โดยใช้ระบบเอไอในการคัดกรองข้อมูลของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในระบบบำนาญ ซึ่งเชื่อว่า เป็นข้อมูลที่รั่วไหลในระบบแล้วใช้เอไอในการกวาดคัดกรองมา

หลังจากนั้นเอไอจะสุ่มโทรทุกคนที่อยู่ในถังข้อมูลของระบบที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้มี และหากใครรับโทรศัพท์ก็จะขึ้นข้อมูลส่วนตัวมา ทั้งชื่อ-นามสกุล อายุ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เคยรับราชการที่ไหน จากนั้นก็หลอกลวงให้ติดตั้งแอพพิเคชั่นดูดเงินหรือแอพพิเคชั่นในการควบคุมโทรศัพท์ โดยการส่งลิงก์มาให้กดไม่ได้ให้ไปดาวน์โหลดเอง เมื่อกดเข้าไปแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะควบคุมโทรศัพท์ได้ทันที

ตำรวจไซเบอร์ เปิดผลสอบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไทย 119 คน พบสมัครใจข้ามแดนไปทำงาน

นอกจากนี้ บุคคลที่ให้การเป็นประโยชน์ ก็ยังให้การอีกว่า “เขาทำงานที่ออฟฟิศนี้ เกี่ยวกับกรมบัญชีการ แล้ว 1 ออฟฟิศ คือ 1ห้อง พอถัดไปอีกห้องก็จะเป็นการหลอกลวงเรื่องอื่น ซึ่งบุคคลที่ให้การเป็นประโยชน์เขาให้การว่า พอทำการหลอกลวงเป็นกรมบัญชีกลางได้สักระยะหนึ่ง ก็ถูกส่งไปอีกห้องเพื่อหลอกลวงเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า จะคืนเงินเกี่ยวกับการเปลี่ยนหม้อแปลง และค่าไฟให้ ทำให้พบข้อมูลที่ชัดเจนว่า ในตึกที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ในออฟฟิศที่ใช้ในการหลอกลวงอย่างต่ำ 20 ห้อง”

ส่วนการได้รายได้เมื่อข้ามแดนไปถึงฝั่งกัมพูชา จะมีการทำสัญญา ติดหนี้ 70,000 บาท เป็นค่าดำเนินการทั้งที่ไปทางช่องทางธรรมชาติของบริษัท ซึ่งบริษัทที่ว่าคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และจะให้เงินเดือนๆ ละ 20,000 บาท แต่จะหักหนี้ 10,000 บาท และจะได้เงินเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มก็จะต้องหลอกลวงให้สำเร็จขึ้นอยู่กับสายด้วยว่าอยู่สายไหน แล้วจะได้เปอร์เซ็นต์เท่าไร ซึ่งบุคคลที่ให้การเป็นประโยชน์ เขาไปทำงานแล้ว 5 เดือน ถูกหักหนี้ไป 50,000 บาท ยังเหลือหนี้อีก 20,000 บาท แต่ถูกตำรวจกัมพูชาเข้าจับกุมก่อน

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยังกล่าวอีกว่า การตรวจพิสูจน์โทรศัพท์มือถือของ 119 คนไทย อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือทุกคนมีโทรศัพท์ใช้ เป็นโทรศัพท์ของตัวเอง ไปถึงปอยเปตก็มีการเปลี่ยนซิมให้ แต่สามารถโทรกลับมาที่ประเทศไทยได้ เพราะหลายคนมีการโทรกลับมา และโอนเงินกลับมาให้กับญาติพี่น้องใช้
   
ทั้งนี้ อยากเตือนประชาชนด้วยว่า ที่ถูกจับไม่ได้ยังมีอีกเยอะ เพราะภาพข่าวที่เห็นว่ามีการวิ่งหนี คือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต้องการหนีการจับกุม ซึ่งแม้จะมีการปฏิบัติการเข้าจับกุม แต่การหลอกลวงคนไทยก็ยังไม่ได้ยุติ 

จากการปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลให้การหลอกลวงออนไลน์ลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ เพราะเดือนกุมภาพันธ์ สถิติการรับแจ้งความในระบบลดลงต่ำสุดในรอบปี จากที่รับแจ้งเฉลี่ยวันละ 1,200 คดี เหลือวันละ 800-900 คดี แต่ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นประชาชนก็จะต้องระมัดระวังด้วย ซึ่งจุดที่ทางการกัมพูชาเข้าจับกุมมีแค่ 2 จุด แต่ตามการข่าวมีหลายจุด หลังจากนี้ ทางการไทยจะยังเดินหน้าปราบปรามมอย่างต่อเนื่อง