posttoday

กฤษฎีกาชี้ กพช.มีอำนาจระงับและชะลอการรับซื้อไฟฟ้า

08 มีนาคม 2568

คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ กพช. มีอำนาจชะลอรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนและชะลอลงนามสัญญา แต่ต้องกำหนดแนวทางตรวจสอบชัดเจน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้ได้รับคัดเลือก

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม รวมถึงชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้า เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการจัดหาไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ระหว่างปี 2565-2573 ที่มีเป้าหมายรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ (MW)

 

ต่อมาในวันที่ 9 มกราคม 2568 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือว่าการดำเนินการของ กพช. ดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่หรือไม่ และการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยต้องปฏิบัติตามหรือไม่

 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เผยแพร่บันทึกเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กพช. ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีความเห็นว่า กพช. มีอำนาจชะลอการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มเติมและชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องก่อนดำเนินการต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการชะลอการลงนามสัญญาต้องมีแนวทางตรวจสอบที่ชัดเจน พร้อมกำหนดกรอบระยะเวลาให้แน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ได้รับการคัดเลือกตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

 

ประเด็นสำคัญจากข้อหารือของ สนพ. และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

1.การดำเนินการของ กพช. เป็นไปตามอำนาจหน้าที่หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การประชุมของ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ซึ่งพิจารณาแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และอนุมัติหลักการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มเติม ถือเป็นการใช้อำนาจโดยชอบตามกฎหมาย เนื่องจาก กพช. มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารพลังงานของประเทศ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนดังกล่าว

 

2.กพช. สามารถชะลอการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนและการลงนามสัญญาได้หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า หาก กพช. พิจารณาแล้วว่ามติเดิมอาจไม่เหมาะสม หรือจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กพช. มีอำนาจในการทบทวนหรือแก้ไขมติของตนเอง รวมถึงสามารถมีมติให้ชะลอการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มเติม และการลงนามสัญญาได้

 

3.ผลกระทบต่อผู้ได้รับการคัดเลือกและแนวทางเยียวยา

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการชะลอการลงนามสัญญาจะต้องมีแผนการตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากมีการเรียกร้องให้ภาครัฐชดเชยความเสียหายจากการชะลอการดำเนินงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องนี้ได้ เนื่องจากยังไม่มีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

จากข้อสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกา การดำเนินการของ กพช. ในการชะลอการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มเติมเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ แต่ต้องมีแนวทางตรวจสอบที่โปร่งใสและกำหนดกรอบระยะเวลาให้ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat