เจาะเหตุแผ่นดินไหว 7.7 กรมทรัพยากรธรณีชี้เป้า "รอยเลื่อนสะกาย"
กรมทรัพยากรธรณีเผย เหตุแผ่นดินไหว 7.7 ในเมียนมา แรงสั่นสะเทือนถึงไทย เหตุจากรอยเลื่อนสะกาย ในอดีตเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่จนมีผู้เสียชีวิตในเมียนมามากกว่า 500 คน
กรมทรัพยากรธรณีรายงานสถานการณ์ "แผ่นดินไหว ประเทศเมียนมา ขนาด 7.7" วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น.
1. สถานการณ์แผ่นดินไหว 7.7
- เมื่อเวลา 13.20 น. ตามเวลาในประเทศไทย เกิดเหตุแผ่นดินไหวบนบกขนาด 7.7 จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างใหญ่ (Major) โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ละติจูด 21.682 องศาเหนือ ลองจิจูด 96.121 องศาตะวันออก ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณประเทศเมียนมา (ข้อมูลจาก USGS)
- จุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา บริเวณเมืองมันดาเลย์ ห่างจากเมืองสะกายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ เป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร
- เกิดแผ่นดินไหวตามมา (After Shock) มีขนาด 6.4 จำนวน 1 ครั้ง เวลา 13.32 น. (ข้อมูลจาก USGS)
2. สาเหตุแผ่นดินไหว 7.7
- แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมาตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา (Right lateral Strike-Slip Fault) ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี
- รอยเลื่อนสะกายก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต เช่น เมื่อปี 2473 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศเมียนมา มากกว่า 500 คน
3. ผลกระทบและความเสียหายแผ่นดินไหว 7.7
- ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทยรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ พะเยา ลำปาง เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย สุพรรณบุรี สิงห์บุรี นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา รวมถึง กทม. นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ (ที่มา : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมทรัพยากรธรณี)
- อาคารถล่ม จตุจักร ในอาคารมีคนงานประมาณ 50 ราย หนีออกมาได้ 7 ราย ติดในอาคาร 43 ราย ทางศูนย์นเรนทร สพฉ. กำลังเร่งเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ พร้อมเครือข่ายกู้ชีพ
กรุงเทพมหานคร ถึงจะอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากกว่า 1,200 กิโลเมตร แต่ยังทำให้กรุงเทพมหานคร สะเทือนได้ถึงเพียงนี้ แล้วหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และอยู่ใกล้กว่านี้ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น
รวมทั้งมีการเอ่ยถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กรุงเม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก จึงขอเล่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1985
ซึ่งได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 8.1 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 ราย ตึก 412 หลังพังราบและมากกว่า 3,000 หลังเสียหายอย่างรุนแรง มูลค่าความเสียหายมากกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ในทะเลนอกชายฝั่งและอยู่ห่างจากกรุงเม็กซิโก ถึง 350 กิโลเมตร แต่ยังสร้างความเสียหายแก่กรุงเม็กซิโกได้ เนื่องจากกรุงเม็กซิโก ตั้งอยู่บนตะกอนที่สะสมตัวในทะเลสาบ และรองรับด้วยชั้นดินอ่อน (Soft Clay)
ที่พบอยู่ในช่วงความลึกตั้งแต่ 7 - 37 เมตร เป็นตัวขยายขนาดแผ่นดินไหวและก่อให้เกิดการสั่นพร้องกับตึกที่มีความสูง 6 - 15 ชั้น ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์ทรายพุ จึงทำให้ตึกที่มีช่วงความสูงดังกล่าวพังเสียหายเป็นจำนวนมาก
เมื่อกลับมามองกรุงเทพมหานครบ้านเรา จะเห็นว่าเรามีอะไรหลายอย่างที่เหมือนกรุงเม็กซิโก อย่างเช่น ตั้งอยู่บนชั้นตะกอนหนา มีชั้นดินอ่อนที่ขยายขนาดแผ่นดินไหวอยู่ในช่วงความลึกตั้งแต่ 1 - 26 เมตร
มีแหล่งที่จะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งจุดที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไป 500 กิโลเมตร ดังนั้น เราจึงควรศึกษาหามาตราการป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดซ้ำรอยประวัติศาสตร์
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น คลื่นแผ่นไหวจะกระจายออกไปทุกทิศทางจากจุดศูนย์เกิดที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งมีทั้งคลื่นปฐมภูมิที่สั่นไหวเหมือนสปริงและคลื่นทุติยภูมิที่สั่นไหวเหมือนการแกว่งเชือก
โดยคลื่นที่อันตราย คือ คลื่นที่เหมือนการแกว่งเชือกนี้แหละ ถ้าหากเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเราจะเห็นพื้นดินกระเพื่อมขึ้นลงเหมือนน้ำในสระที่เวลามีคลื่นเลยแหละ คลื่นดังกล่าวจึงสร้างความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างที่มันวิ่งผ่าน
แต่จากธรรมชาติของคลื่น คลื่นจะมีพลังลดลงตามระยะที่ห่างออกไป นอกจากนี้คลื่นที่มีความถี่สูงจะเดินทางไปได้ ไม่ไกลหรือหมดพลังงานไปก่อน ดังนั้น จึงเหลือแต่คลื่นที่มีความถี่ต่ำ ที่จะเดินทางไปได้ไกลๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในพื้นที่พม่าหรืออินโดนีเซีย กว่าคลื่นจะเดินทางมาถึงกรุงเทพจึงเหลือแต่คลื่นความถี่ต่ำๆ
เมื่อคลื่นมาถึงกรุงเทพแล้วชั้นดินอ่อนที่รองรับอยู่ข้างได้จะเป็นตัวขยายขนาดหรือทำให้เกิดการสั่นไหวรุนแรงขึ้นประมาณ 2 – 3 เท่า
นอกจากนี้ตึกทุกๆ หลัง จะมีค่าความถี่ธรรมชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นอยู่กับน้ำหนักและโดยเฉพาะความสูงของตัวตึก หรืออีกนัยหนึ่งคือตึกสูงๆ
จะมีค่าความถี่ธรรมชาติแบบต่ำๆ ดังนั้น มันจึงไปตรงกันพอดีกับคลื่นแผ่นดินไหวที่เดินทางมาถึงที่มีความถี่ต่ำ ในบางตึกที่ค่าความถี่ของแผ่นดินไหวมีค่าพอดีกับค่าความถี่ธรรมชาติของตึก ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์การสั่นพ้อง ทำให้ตึกสั่นไหวรุนแรงขึ้นไปอีก
จากการศึกษาพบว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะ 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพ ตึกที่มีความสูงระหว่าง 10 - 30 ชั้น มีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหาย
และหากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในระยะไกลกว่า 100 กิโลเมตร ในพื้นที่สหภาพพม่าหรือในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตึกที่มีความสูงระหว่าง 60 - 88 ชั้น จะมีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหาย