นักวิชาการเตือน! แผ่นดินไหวเมียนมา สะเทือนถึงอาคารเก่ากรุงเทพฯ
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ชี้แผ่นดินไหว 8.2 เมียนมา สะเทือนถึงกรุงเทพฯ อาคารสูงก่อนปี 50 อาคารทั่วไปก่อนปี 22 เสี่ยงแตกร้าว ทรุด เร่งสำรวจด่วน! หวั่นเกิดผลกระทบรุนแรง
ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ในเมียนมา ซึ่งรู้สึกได้ถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีความคิดเห็นพร้อมแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงจากอาคารเก่าหลายประเด็น ดังนี้
1.ผลกระทบในกรุงเทพฯ - แม้กรุงเทพฯ จะไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลาง แต่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 326 กม. แรงสั่นสะเทือนนี้รู้สึกได้ชัดเจนในอาคารสูง
2.อาคารเสี่ยง - อาคารสูงเกิน 15 เมตรที่สร้างก่อนปี 2550 และอาคารทุกประเภทที่สร้างก่อนปี 2522 มีความเสี่ยงสูงที่จะแตกร้าว ทรุด หรือพังถล่ม เนื่องจากกฎหมายควบคุมอาคารที่กำหนดให้ต้องรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวเพิ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2550
3.การสำรวจเร่งด่วน - กรมโยธาธิการและหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงเจ้าของโครงการ ต้องเร่งสำรวจความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงโบราณสถาน วัด สะพาน ระบบขนส่งสาธารณะ (รถไฟฟ้า ทางด่วน โดยเฉพาะถนนพระราม 2) และเขื่อนเก็บกักน้ำในภาคเหนือ กลาง และอีสาน
4. สถานการณ์จำลองผลกระทบในกรุงเทพฯ - มีรายงานความเสียหายในกรุงเทพฯ เช่น อาคารสูง 30 ชั้นระหว่างก่อสร้างย่านจตุจักรถล่ม อาคารใบหยก 1 และ 2 เอียงและมีรอยร้าว เครนก่อสร้างคอนโดบางโพถล่ม รถไฟฟ้า BTS และ MRT หยุดให้บริการชั่วคราว อาคารสูงจำนวนมากเกิดรอยร้าว ประชาชนออกมาอยู่บนถนน ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก
5.รอยเลื่อนในไทย - ประเทศไทยมีรอยเลื่อน 15 แห่งที่ยังสามารถเคลื่อนตัวได้ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการสำรวจและประเมินความเสี่ยงของอาคารเก่าโดยด่วน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน