posttoday

“เอกนัฏ” ลั่นรับผิดชอบเอง! ปมเหล็กไม่ได้มาตรฐาน อาคาร สตง. ถล่ม

01 เมษายน 2568

“เอกนัฏ” ลุยเอง! รับผิดชอบเต็มสูบ ปมเหล็กไม่ได้มาตรฐาน อาคาร สตง. ถล่ม แฉมีขบวนการวิ่งเต้น-ข่มขู่เจ้าหน้าที่ ยันไม่ปล่อย “ธุรกิจศูนย์เหรียญ” หาประโยชน์บนแผ่นดินไทย

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกโรงแสดงความรับผิดชอบอย่างหนักแน่น หลังพบความผิดปกติของวัสดุก่อสร้างในเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม

 

โดยเฉพาะประเด็นเหล็กไม่ได้มาตรฐาน พร้อมเปิดเผยถึงความพยายามของกลุ่มบุคคลที่เข้ามาวิ่งเต้นและข่มขู่เจ้าหน้าที่เพื่อหวังผลประโยชน์

 

เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (1 เมษายน 2568) นายเอกนัฏได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการตรวจสอบวัสดุก่อสร้าง ณ จุดเกิดเหตุอาคารถล่ม โดยระบุว่า

 

ได้ประสานขออนุญาตไปยังรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้มีทีมกู้ภัยร่วมให้การสนับสนุนในการตัดเหล็กและเก็บตัวอย่างวัสดุได้ถึง 6 ประเภท

 

ทั้งเหล็กกลมและเหล็กข้ออ้อย รวม 3 ยี่ห้อ จากผลการตรวจสอบเบื้องต้นเมื่อวานนี้ พบว่ามีเหล็ก 2 ขนาด คือ ไซส์ 20 และ 32 จากผู้ผลิตรายเดียวกัน ที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด

 

“เอกนัฏ” ลั่นรับผิดชอบเอง! ปมเหล็กไม่ได้มาตรฐาน อาคาร สตง. ถล่ม

 

สำหรับประเด็นการสั่งปิดโรงงานเหล็กที่ผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานนั้น นายเอกนัฏชี้แจงว่า โรงงานดังกล่าวเป็นผู้ผลิตที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งให้หยุดดำเนินการไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ จะดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขยายผลตามกระบวนการ โดยเมื่อพบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน จะต้องดำเนินการเรียกเก็บสินค้าทั้งหมดจากท้องตลาด

 

สั่งให้ผู้ผลิตหยุดการผลิตและปรับปรุงแก้ไข ซึ่งในกรณีนี้ได้ดำเนินการไปแล้วในเบื้องต้น ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาว่าผลการตรวจสอบจะนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการได้หรือไม่

 

 

“เรื่องนี้เข้าใจ ไม่เป็นไร ถ้าไม่กล้าพูดก็จะพูดเอง เกิดอะไรขึ้นรับผิดชอบเอง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คิดว่าเราปล่อยปละละเลยต่อไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว” นายเอกนัฏประกาศอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังกล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบเหล็กอย่างละเอียด โดยจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ

 

รอบแรก เป็นการสุ่มตรวจตัวอย่างในพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งยังคงมีการปฏิบัติงานของทีมกู้ภัย จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

 

โดยมีการบันทึกภาพวิดีโอขณะเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างเพื่อยืนยันความโปร่งใส และมีการเก็บตัวอย่างหลากหลายประเภทและจำนวนมาก

 

รอบที่สอง เป็นการลงพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมือง และเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมด้วย

 

ซึ่งในรอบนี้จะเป็นการเก็บตัวอย่างแบบ “ชี้เป้า” โดยอ้างอิงจากแบบแปลน (BOQ) ของผู้รับเหมา เพื่อให้ครอบคลุมเหล็กทุกประเภทและเก็บในจุดที่คาดว่าเป็นสาเหตุของการถล่ม

 

นายเอกนัฏยอมรับด้วยความตกใจว่า โรงงานที่พบว่าผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานในครั้งนี้ เป็นโรงงานที่ตนเองเคยลงพื้นที่ตรวจสอบและสั่งปิดไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567

 

แต่การก่อสร้างอาคาร สตง. นั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2563 และดำเนินมาเป็นเวลา 5 ปี โดยการตรวจสอบเหล็กจะพิจารณาทั้งคุณสมบัติด้านการกลและคุณสมบัติทางเคมี

 

จากการตรวจสอบครั้งก่อน โรงงานดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติทางเคมี และล่าสุดในการตรวจสอบเมื่อวานนี้พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติทางกล

 

ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสั่งให้หยุดการผลิต อายัดของกลาง เรียกเก็บสินค้า และสั่งให้หยุดเพื่อปรับปรุงแก้ไขแล้ว

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตรวจสอบและสั่งปิดโรงงานเหล็กไปแล้วถึง 7 แห่ง และอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 3 แห่ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท

 

สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “ธุรกิจศูนย์เหรียญ” ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศไทย โดยเป็นทุนต่างชาติ 100% จ้างงานต่างด้าวทั้งหมด

 

และบางรายยังได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจากการทำงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าหลายกรณีมีลักษณะการดำเนินงานที่เป็นกระบวนการ

 

นายเอกนัฏยังได้กล่าวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ร่วมทีมลงพื้นที่เก็บหลักฐานด้วยตนเองเมื่อวานนี้ โดยเชื่อมั่นว่าหลักฐานที่ได้มานั้นมีความสำคัญและมีน้ำหนัก และสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน

 

พร้อมยอมรับว่าในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ได้รับทราบข่าวสารถึงความพยายามในการวิ่งเต้นและข่มขู่เจ้าหน้าที่ในประเด็นนี้

 

นอกจากนี้ นายเอกนัฏยังเปิดเผยถึงกำหนดการลงพื้นที่ในวันพรุ่งนี้ (2 เมษายน 2568) เพื่อตรวจสอบโรงงาน ซินเคอหยวน จำกัด ในตำบลหนองละลอก อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง

 

ซึ่งเป็นโรงงานที่ถูกสั่งปิดไปแล้วก่อนหน้านี้ หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน ลงพื้นที่และพบว่าโรงงานดังกล่าวยังคงมีความเคลื่อนไหว โดยพบรถบรรทุกขนฝุ่นแดงเข้าออก

 

เป็นที่น่าสงสัยว่าอาจมีการลักลอบผลิตเหล็กอยู่หรือไม่ หากการตรวจสอบในวันพรุ่งนี้พบว่ามีการกระทำผิดจริง จะมีการตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีเพิ่มเติมต่อไป