DSI กางเครือข่ายไชน่า เรลเวย์ ทำกิจการร่วมค้า11บริษัท29โครงการ
ดีเอสไอ เปิดข้อมูลขยายผล ไชน่า เรลเวย์ 10 มีแนวโน้มใช้นอมีนีถือหุ้น ทำกิจการร่วมค้าอีก 11 บริษัท 29 โครงการ มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท
พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมประชุมกับ ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว
กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษวันนี้ได้เริ่มประชุมนัดแรกโดยเน้นไปที่บริษัทร่วมค้าควบคู่ไปกับการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ
พันตำรวจตรียุทธนา เปิดเผยว่า ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษในความผิด ว่าด้วยการเสนอราคาต่อรัฐ ส่วนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจะดูควบคู่ไปด้วย ประเด็นนี้จะไปตรวจสอบคนไทยที่ถือหุ้นว่ามีการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่
เบื้องต้นได้ไปตรวจสอบที่บ้านของ นายประจวบ หนึ่งในผู้ถือหุ้น บริษัท ไชน่า เรียลเวย์ No.10 (ประเทศไทย) จำกัด 102,000 หุ้น โดยเดินทางไปที่ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อไปตรวจสอบที่บ้านไม่เจอตัวนายประจวบ แต่เจอภรรยา
ได้สอบถามเบื้องต้น พบว่านายประจวบออกจากบ้านไป 2-3 วัน ก่อนที่ตำรวจจะมา ซึ่งสามีรับจ้างก่อสร้าง รายได้ประมาณ 10,000 บาท ต่อเดือน ข้อมูลดังกล่าวทำให้เชื่อว่ามีแนวโน้มว่านายประจวบจะเป็นนอมีนีหรือถือหุ้นอำพราง
ส่วนผู้ถือหุ้นอีก 2 คน คือ นายมานัสและนายโสภณ อยู่ระหว่างติดตามตัว
ขณะที่ นางสาวกนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ เปิดเผยว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ No.10 การก่อตั้งช่วงแรกมีผู้ถือหุ้นทั้ง 3 คน เป็นนิติบุคคล โดยมีนายมนัส ถือหุ้น 306,000 หุ้น ในวันแรก จากนั้นค่อยโอนให้นายโสภณ จนตัวเองเหลือแค่ 3 หุ้นเท่านั้น
ส่วนนายโสภณ มี 406,997 หุ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตามว่าเป็นการโอนหุ้นแบบปกติหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบว่าทั้ง 3 คน ยังไม่เคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาก่อนแต่กลับเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่และรับงานภาครัฐ
"จากตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าทำกิจการร่วมค้ากับอีก 11 บริษัท รวม 29 โครงการ ทั่วประเทศ เป็นเงินกว่า 22,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่านายโสภณยังเป็นผู้บริหารร่วมกับคนจีนอีก 1 คน ซึ่งประเด็นนี้จะไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้ง"
ด้าน ร้อยตำรวจเอกสุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่าบริษัทไชน่าเรลเวย์ No.10 อ้างตัวว่าเป็นคนไทยแต่ไม่มีประสบการณ์ มาร่วมกับบริษัทไทยและร่วมประมูลงานภาครัฐ ซึ่งต้องดูว่ามีคนไทยรู้เห็นเป็นใจหรือไม่
รวมถึงเอกสารเป็นเท็จหรือไม่ ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบ และดูประเด็นการทำกิจการร่วมค้าของบริษัทไชน่า เรลเวย์ No.10 ร่วมค้ากับนิติบุคคลของไทย 11 บริษัท โดยเฉพาะตึก สตง. ที่มีบริษัท อิตาเลียนไทย ร่วมกับ บริษัทไชน่า เรลเวย์ No.10 ว่าเป็นกิจการร่วมค้าในการประมูลอาคารดังกล่าว
โดยจะขอเวลาประมาณ 2 เดือน ในการตรวจสอบว่าเอกสารทั้งหมดเป็นเอกสารจริงหรือไม่ และอีก 29 โครงการที่ร่วมค้ากับบริษัทไทยและรับงานโครงการจากรัฐไปทำ ทำไมถึงต้องอำพรางทั้งที่เป็นคนไทย แต่ไม่ประมูลงานเอง
ส่วนที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ No.10 ร่วมกับ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ประมูลตึก สตง. ในราคา 2,136 ล้านบาท จากราคากลาง 2,500 ล้านบาท มองว่าเป็นการฟันราคาตัวเองหรือไม่ รวมถึงต้องดูข้อเท็จจริงว่าใช้เหตุผลอะไรทำให้รัฐหลงเชื่อและใช้บริการ
เครือข่าย ไชน่า เรลเวย์ No.10