posttoday

ผู้เลี้ยงหมูนับพัน บุกคลัง ไม่เห็นด้วย นำเข้าเครื่องในจากสหรัฐ

10 เมษายน 2568

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกว่า 1,000 ราย บุกกระทรวงคลัง วอนยุติแนวคิดนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐ ขอความเห็นใจปกป้องอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยง และคนในห่วงโซ่อุปทาน

 

วันที่ 10 เมษายน 2568 - สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรนับพัน รวมตัวกันที่กระทรวงการคลัง หลังมติคณะรัฐมนตรีให้นำเข้าเครื่องในสุกรแก้ปัญหาสหรัฐฯ ขึ้นภาษีศุลกากรต่างตอบแทน 36% กับประเทศไทย หลังยื่นคัดค้านที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมา
     

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ด้วยอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน เป็นอาชีพเดียวที่เกษตรกรใช้เลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวมาหลายชั่วอายุคน แม้จะล้มลุกคลุกคลานเผชิญปัญหามากมายมาโดยตลอด 

 

แต่กลุ่มเกษตรกรและภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็มุ่งมั่นตั้งใจยกระดับ พัฒนา ปรับปรุง เพื่อผลิตเนื้อหมูให้คนไทยบริโภคด้วยคุณภาพหมูที่สะอาด ปลอดภัย เป็นความภูมิใจของคนเลี้ยงหมูทุกคน 
 

เมื่อแนวคิดการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ อาจถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขเจรจาในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อเกษตรกรและอีกหลายภาคส่วน

 

จึงรวมตัวมาเพื่อขอความเห็นใจจากท่านรองนายกฯ ให้ปกป้องอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยให้สามารถยืนหยัดผลิตเนื้อหมูให้คนไทยบริโภคได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน รักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดยขอนำเรียนข้อมูลเพื่อท่านโปรดพิจารณา ดังนี้

 

เห็นด้วยนำเข้าพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์

 

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สนับสนุนการนำเข้าพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ขาดแคลน หรือผลิตได้ไม่เพียงพอในบ้านเรา เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ซึ่งจะสามารถเพิ่มดุลการค้าให้สหรัฐฯได้ถึงปีละ 84,000 ล้านบาท น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเจรจาครั้งนี้ได้ไม่น้อย 

 

จะเป็นการนำเข้าในส่วนที่ประเทศไทยมีไม่เพียงพอ ซึ่งจะไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ในประเทศไทย นับว่าคุ้มค่ากว่าการนำอุตสาหกรรมสุกรและห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ไปแลกอย่างชัดเจน

 

ไม่เห็นด้วยนำเข้าเนื้อหมู-เครื่องในจากสหรัฐฯ

 

ปัจจุบันปริมาณผลผลิตเนื้อหมูของไทย อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความต้องการบริโภคของประชาชน หากปล่อยให้มีเนื้อหมูสหรัฐฯ เข้ามาปริมาณซัพพลายจะเกินกว่าดีมานด์ ส่งผลกระทบไปตลอดห่วงโซ่การผลิต ดังเช่นสถานการณ์หมูเถื่อนที่เกิดขึ้นอย่างหนักในช่วงปี 2564 ที่ทำให้ผู้เลี้ยงต้องสูญเสียอาชีพไปมากมาย

 

สินค้าทั้งชิ้นส่วนและเครื่องในสุกรของสหรัฐ ผลิตจากประเทศที่มีกฎหมายไม่ห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดง ในขณะที่ประเทศไทยมีกฎหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ห้ามใช้ในการเลี้ยง และกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ห้ามปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สุกรทุกชนิดแม้จะมีการอ้างว่ามีการเลี้ยงโดยไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในสหรัฐ  

 

ในขณะที่กฎหมายของสหรัฐไม่ห้ามการใช้ จะเป็นปัญหาเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศยุโรปไม่รับสินค้าไก่เนื้อจากประเทศที่ใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งไก่เนื้อไปยังยุโรปและออกกฎหมายในลักษณะที่ห้ามใช้สารต้องห้ามในลักษณะเดียวกับกลุ่มยุโรปเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานเดียวกัน 

 

หากผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์หรือเครื่องในที่มีสารตกค้างดังกล่าว จะมีผลต่อระบบประสาทและหัวใจ เป็นความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ และแม้จะนำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มสุนัขและแมว ก็ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพสัตว์เลี้ยง และเกิดข้อจำกัดในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปตามมา 
    

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงรวมตัวเข้ามาขอความเห็นใจจากท่าน ปกป้องอาชีพเกษตรกรและประชาชนชาวไทย โดยยกเลิกการเสนอนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในทันที