ดีอีเตือนอย่าเชื่อ! ข่าวปลอมภูเขาไฟระเบิด สร้างความแตกตื่น

19 เมษายน 2568

กระทรวงดิจิทัลฯ ย้ำข่าวลือเรื่องภูเขาไฟระเบิด 5 แห่งในไทยเป็นเท็จ ไม่พบภูเขาไฟมีพลังในประเทศ ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลวงที่อาจสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ออกคำเตือนถึงประชาชนให้ระมัดระวังต่อการแชร์หรือเชื่อข้อมูลเท็จที่แพร่กระจายบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวลวงเรื่อง “เตรียมรับมือภูเขาไฟระเบิด 5 แห่งในไทย” ซึ่งล่าสุดกลายเป็นข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในรอบสัปดาห์

 

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโฆษกของกระทรวงฯ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อมูลระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2568 และพบข้อความเข้าข่ายข่าวปลอมกว่า 474 รายการ จากการเฝ้าระวังข้อมูลทั้งหมด 834,632 ข้อความ โดย 455 ข้อความมาจากระบบ Social Listening และอีก 19 ข้อความมาจากการแจ้งเบาะแสผ่าน LINE Official

 

เมื่อจำแนกประเภทข่าวปลอมที่ถูกพูดถึงมากที่สุด พบว่ามีทั้งหมด 5 กลุ่มหลัก ได้แก่

 

- ข่าวเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐและความมั่นคง 63 เรื่อง

 

- ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสินค้าอันตราย 45 เรื่อง

 

- ภัยพิบัติและเหตุการณ์ธรรมชาติ 27 เรื่อง

 

- ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ 8 เรื่อง

 

- อาชญากรรมออนไลน์ 23 เรื่อง

 

จากการวิเคราะห์พบว่า ข่าวปลอมที่เกี่ยวกับภัยพิบัติยังคงดึงดูดความสนใจของสังคมมากที่สุด โดยเฉพาะกรณีข่าวลือเกี่ยวกับภูเขาไฟในไทยที่จะเกิดการปะทุในหลายจังหวัด เช่น ราชบุรี ขอนแก่น สุโขทัย กาฬสินธุ์ และบุรีรัมย์

 

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบข่าวดังกล่าวและยืนยันว่า เป็นข้อมูลเท็จทั้งหมด ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่ (Active Volcano) ที่จะสามารถเกิดการระเบิดได้ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณและติดตามข่าวจากแหล่งทางการเท่านั้น

 

อีกหนึ่งข่าวปลอมที่ถูกพูดถึงรองลงมาคือ “เลขหลุดลอตเตอรี่ งวด 16 เม.ย. 68” ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ประสานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อตรวจสอบ พบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยการออกรางวัลของกองสลากมีมาตรฐานชัดเจน โปร่งใส และเป็นไปตามข้อกำหนด ISO 9001:2015 จึงไม่มีบุคคลใดสามารถล่วงรู้ผลรางวัลล่วงหน้าได้

 

10 อันดับข่าวปลอมยอดนิยมประจำสัปดาห์นี้ ได้แก่

 

1.ข่าวลือเรื่องภูเขาไฟระเบิด 5 แห่งในไทย

 

2.เลขลอตเตอรี่หลุด

 

3.อสม./อสส. จะได้เงินเพิ่ม 2,000 บาท

 

4.คำเตือนภัยสึนามิในเดือนกรกฎาคม

 

5.ผลิตภัณฑ์เสริมกระดูก “Carthisin”

 

6.ยารักษาปรสิต “Paratinol”

 

7.การยกเลิก อสม. เพื่อสนับสนุนโครงการผู้สูงอายุ

 

8.ผลิตภัณฑ์ “Sanderma” สำหรับโรคผิวหนัง

 

9.ข่าวลวงเรื่องการยกเลิกธนบัตร 1,000 บาทภายใน 1 สัปดาห์

 

10.เด็กต่างด้าวสามารถเข้าเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารไทยได้

 

นายเวทางค์เน้นย้ำว่า ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้อาจสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งในแง่ความวิตกกังวล ความเข้าใจผิด หรือแม้กระทั่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หากประชาชนขาดการไตร่ตรองและส่งต่อข่าวสารโดยไม่ตรวจสอบที่มา

 

กระทรวงฯ จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร หมั่นตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ก่อนจะแชร์หรือเผยแพร่ข้อมูลต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้ข่าวปลอมกลายเป็นไฟลามทุ่งในสังคมที่เปราะบางอย่างปัจจุบัน

Thailand Web Stat