posttoday

พีระพันธุ์อ้างโครงการไฟฟ้าหมุนเวียนเดินถูกทาง ถ้าผิดเลิกได้

20 เมษายน 2568

พีระพันธุ์ชี้แจงประมูลไฟฟ้าหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์เป็นไปตามกฎหมาย หากพบความผิดสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ต้องรอครบ 25 ปี

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2568 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข้อสงสัยเรื่องการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งฝ่ายค้านได้ตั้งกระทู้ถามในสภาเมื่อเดือนก่อน โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงแล้วว่าโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 ในรัฐบาลก่อนหน้า โดยเปิดประมูลพลังงานเฟสแรกขนาด 5,200 เมกะวัตต์

 

หลังการประมูล มีผู้ไม่ได้รับคัดเลือกยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ทำให้ไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ในทันที แต่ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้ยกฟ้องทุกกรณี ทำให้ไม่มีอุปสรรคทางกฎหมายอีกต่อไป การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งจึงเริ่มทยอยดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด

 

โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ กฟผ. ต้องลงนามภายใน 2 ปี เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ครบกำหนดวันที่ 18 เมษายน 2568 และโครงการพลังงานลมที่ต้องลงนามภายในปี 2569

 

ในเฟสแรกมีการประมูลสำเร็จที่ 4,852 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 175 โครงการ ซึ่ง กฟผ. มีส่วนเกี่ยวข้อง 83 โครงการ และได้เซ็นสัญญาไปแล้ว 67 โครงการ โดยทั้งหมดนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565

 

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำว่า การยกเลิกหรือชะลอสัญญาในขั้นตอนนี้อาจมีปัญหาทางกฎหมาย เนื่องจากบางโครงการอยู่ในช่วงเตรียมลงนามแล้ว ดังนั้น กฟผ. จึงเพิ่มเงื่อนไขในสัญญาว่า หากภายหลังพบว่ามีความผิดปกติในกระบวนการหรือขัดต่อกฎหมาย สามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ต้องรอครบ 25 ปี

 

สำหรับ 3 สัญญาที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินการภายใต้กรอบเวลากำหนด 2 ปี และมีการปรับแก้เงื่อนไขตามคำแนะนำของกฤษฎีกาแล้ว

 

ในส่วนของ 16 โครงการที่ยังไม่ได้ลงนาม นายพีระพันธุ์ได้หารือกับผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อหาทางชะลอการลงนามอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่จะครบกำหนดในปี 2569 ขณะนี้ กฟผ. กำลังพิจารณาข้อกฎหมายและระเบียบเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม

 

นางสาวศศิกานต์ ย้ำว่า การลงนามในสัญญาครั้งนี้จะไม่เป็นพันธะผูกพันระยะยาว เพราะสามารถยกเลิกได้ทันทีหากพบข้อผิดพลาด พร้อมระบุว่าอำนาจที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้อยู่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานโดยตรง

 

สำหรับ กฟผ. รัฐมนตรีมีอำนาจเพียงกำกับดูแล ไม่สามารถสั่งการได้โดยตรง และนี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นด้านโครงสร้างที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไข เพราะกฎหมายพลังงานในปัจจุบันจำกัดอำนาจรัฐมนตรีเกินไป ทำให้การบริหารจัดการล่าช้าและไม่คล่องตัว

 

รัฐบาลจึงเตรียมแก้กฎหมายพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง โปร่งใส และตรวจสอบได้ พร้อมป้องกันไม่ให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนในอนาคต

 

“หากมีหลักฐานใหม่ชี้ชัดว่าโครงการใดผิดกฎหมายหรือดำเนินการไม่ถูกต้อง รัฐบาลสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ต้องรอครบอายุ 25 ปี รัฐบาลพร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้กระบวนการโปร่งใส ยุติธรรม และรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากประชาชนและฝ่ายค้าน แต่ขอให้การตรวจสอบอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ไม่ใช่การบิดเบือนเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน” — นางสาวศศิกานต์ กล่าว