สภาพัฒน์ฯ เผย นโยบายFacebook-TikTok เอื้อ "พนันออนไลน์"
สภาพัฒน์ฯ เผย รายงานภาวะสังคมไทย พบนโยบายFacebook-TikTok เอื้อ "พนันออนไลน์" ผ่านไลฟ์สด รูปแบบใหม่เข้าถึงคนไทย เด็กเข้าถึงง่าย
สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2567 ชี้ให้เห็นถึง "ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่น่าเป็นห่วง"
โดยเฉพาะในประเด็นการพนันออนไลน์ที่มีการพัฒนารูปแบบให้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น หลบเลี่ยงการตรวจจับ และเข้าถึงประชาชนได้ง่ายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยม
รายงานจากสศช. อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ระบุว่าคนไทยเกือบทั้งประเทศ หรือร้อยละ 99.9 พบเห็นการเล่นพนันในรูปแบบต่างๆ
ทั้งในช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มที่มีการพบเห็นการพนันมากที่สุดคือ Facebook (ร้อยละ 49.6) รองลงมาคือ TikTok (ร้อยละ 29.7)
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือการพัฒนารูปแบบของการพนันออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เคยเป็นเพียงการโฆษณาเพื่อชักชวนให้ผู้เล่นเข้าไปใช้บริการบนเว็บไซต์พนันโดยตรง
ปัจจุบันได้พัฒนาไปสู่รูปแบบของการถ่ายทอดสด (Live) บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้เล่นสามารถติดต่อเพื่อเล่นพนันผ่านการไลฟ์ได้ทันที
รายงานของ สศช. ยังระบุว่า ส่วนหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากนโยบายของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ยังมีช่องโหว่ให้ผู้ให้บริการพนันสามารถหลบเลี่ยงได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ TikTok ที่มีนโยบายอนุญาตให้มีการโฆษณา "เกมการพนันจำลอง" ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เนื้อหาดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12
ตามตารางนโยบายการโฆษณาของแพลตฟอร์มที่ สศช. เปิดเผย แม้จะระบุว่าไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาเกมการพนัน ลอตเตอรี่ หรือการพนันด้วยเงินจริง แต่กลับอนุญาตให้มีการโฆษณาเกมการพนันจำลองได้ ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ผู้ให้บริการพนันนำมาใช้ประโยชน์
พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 ระบุชัดเจนว่า ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงและทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
ในกรณีของการพนันผ่านการไลฟ์สด มีการกระทำความผิดหลายรูปแบบ อาทิ การชักชวนให้กดลิงก์เข้าสู่เว็บไซต์พนัน หรือการติดต่อแลกเปลี่ยนเงินผ่านช่องทางอื่น ซึ่งล้วนเป็นการช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนให้เล่นการพนันโดยทางอ้อมทั้งสิ้น
รายงานของ สศช. ระบุว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการกระทำผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องดำเนินการตรวจสอบข้อนโยบายของแพลตฟอร์มที่ยังขัดต่อหลักกฎหมายไทย