ดีอี ยกระดับศูนย์ AOC 1441 สู่ ศปอท. อำนาจเต็มปราบโจรออนไลน์
บูรณาการข้อมูลปราบ “โจรออนไลน์” รับแจ้งเหตุ รับคำร้องทุกข์ สั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน ประสานงานวิเคราะห์ข้อมูล และดำเนินคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวดเร็ว ครบวงจร
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า หลังจากพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
ทำให้กระทรวงสามารถยกระดับศูนย์ AOC 1441 สู่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) ตามมาตรา 8/5 แห่งพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568
ทั้งนี้ได้กำหนดให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) ซึ่งเป็นการยกระดับศูนย์ AOC 1441 โดย "ศปอท." จะเป็นกลไกหลักในการรับแจ้งเหตุ รับคำร้องทุกข์ สั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน ประสานงานวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถดำเนินคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ครบวงจร และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้ตั้ง นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี และเลขานุการ คณะกรรมการฯ ทำหน้าที่หัวหน้า ศปอท. ตามมาตรา 8/7
สำหรับการปรับโครงสร้างศูนย์ AOC 1441 สู่ "ศปอท." จะมีการเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอและเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงจะต้องจัดทำระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามมาตราต่าง ๆ ตาม พ.ร.ก. (ด้านการแสดงผลหรือสถานะ การสั่งการ การวิเคราะห์ การติดตาม และการรายงาน)
แนวทางการดำเนินการภายในของหน่วยงาน และการดำเนินการของหน่วยงานอื่นที่มาปฏิบัติหน้าที่ ศปอท. กระบวนการขั้นตอนการสั่งการ หลักเกณฑ์ และวิธีดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ของ ศปอท. และการรับแจ้งเหตุของ ศปอท. ให้ถือเป็นการร้องทุกข์โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหาย (การประสานงานข้อมูลร่วมกับ ตร. สอท. ในการปรับกระบวนการแจ้งความ) และมีหน้าที่ประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดส่งผู้แทนเข้าร่วมปฏิบัติงาน ด้วย
สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อบังคับใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ของ ปปง. ประกอบด้วย
-ปปง. เตรียมจัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎกระทรวง เพื่อคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งออกตามความในมาตรา 8/1 และมาตรา 8/2 ของพ.ร.ก.ฯ
-ปปง. เตรียมจัดตั้งกองเพิ่มเติม เพื่อรองรับการตรวจสอบธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ที่ปัจจุบันพบว่ามีเงินค้างอยู่ในบัญชีที่มีการระงับช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ จำนวนกว่า 80,000 บัญชี เป็นจำนวนเงินกว่า 2,500 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เม.ย.68) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์โดยเร็ว
นายประเสริฐ กล่าวว่า มาตรการกำกับดูแลแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศ โดยภายหลัง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 มีผลบังคับใช้ Binance Global ได้ประกาศเลิกให้บริการ P2P สำหรับเงินบาท เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ฯ โดย ก.ล.ต.จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ และส่งข้อมูลแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเป็นข้อมูลให้กระทรวงดีอี พิจารณาดำเนินการปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์ม
กระทรวงดีอีอยู่ระหว่างการเตรียมออกกฎกระทรวง เพื่อการบังคับใช้ในการกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการเยียวยาผู้เสียหาย