กทม.ขยายรับเรื่องผู้ประสบภัยถึง 2 พ.ค. พร้อมปรับขั้นตอนง่ายขึ้น

26 เมษายน 2568

ทวิดา รองผู้ว่าฯ เผย กทม. ขยายรับเรื่องผู้ประสบภัยถึง 2 พ.ค. เร่งปรับระบบให้สะดวกขึ้น เตรียมพัฒนารับหลักฐานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2568 เวลา 10.30 น. ที่บริเวณศูนย์ปฏิบัติการใกล้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เขตจตุจักร ซึ่งถล่มลงจากเหตุแผ่นดินไหว รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) แถลงความคืบหน้าภารกิจช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย

 

รศ.ทวิดา กล่าวว่า กทม. ได้ขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องขอรับการเยียวยาสำหรับผู้ประสบภัยออกไปจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งกำลังเร่งพัฒนาระบบการยื่นหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระในการเดินทางมาด้วยตนเอง

กทม. เร่งพัฒนาระบบรับเอกสารให้เร็วและสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ระบบดิจิทัลในอนาคต แต่ตอนนี้ยังเน้นการยืนยันตัวตนด้วยตนเองเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์

จนถึงขณะนี้มีผู้ยื่นเรื่องขอรับสิทธิ์เยียวยาแล้วกว่า 40,000 ราย โดยเขตที่มียอดสูงสุดได้แก่ จตุจักร ภาษีเจริญ ห้วยขวาง ธนบุรี ราชเทวี และวัฒนา ซึ่งมีอาคารพักอาศัยสูงจำนวนมาก

 

ด้านความคืบหน้าในการค้นหาและรื้อถอนซากอาคาร รศ.ทวิดา ระบุว่า ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย ในจุดที่ทีมค้นหาต่างชาติประเมินว่าอาจเป็นบันไดหนีไฟ ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 62 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และยังค้นหาอีก 32 ราย จากผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 103 คน

แผนปฏิบัติการเน้นการเจาะและเคลียร์ชั้นใต้ดิน โดยเฉพาะโซน B, A และ D คาดว่าอีก 1 สัปดาห์จะเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายทั้งหมดได้

ขณะนี้ กทม. ออกใบมรณบัตรแล้ว 44 ใบ รับรองการเสียชีวิตแล้ว 33 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 11 ราย โดยเน้นให้กระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์และส่งคืนร่างผู้เสียชีวิตให้ญาติอย่างเหมาะสมที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีรายงานปัญหาสุขภาพของเจ้าหน้าที่จากความร้อนที่สูงถึง 51.9 องศาเซลเซียสตามค่าดัชนี Heat Index แต่ยังสามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนน้ำดื่มและเครื่องทำน้ำแข็งจากภาคเอกชนเพื่อช่วยคลายร้อน

 

ในส่วนของการจ่ายเงินเยียวยา รองผู้ว่าฯ ชี้แจงว่า อัตราการจ่ายจะเป็นไปตามเพดานที่กำหนดโดยกรมบัญชีกลาง ซึ่งประเมินตามราคากลางของวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม กทม. อยู่ระหว่างหารือเพื่อขอความยืดหยุ่นเพิ่มเติม หากอัตราชดเชยไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่ทำประกันอาคารไว้ ยังสามารถยื่นเคลมกับบริษัทประกันหรือนิติบุคคลได้เพิ่มเติม โดยตอนนี้ กทม. ขอทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนให้ถึงที่สุดก่อน ส่วนเรื่องการดำเนินคดีหรือผู้กระทำผิด จะเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตั้งเป้าดำเนินการรื้อถอนและขนย้ายซากอาคารออกจากพื้นที่ให้ได้ 330 เที่ยวภายในวันนี้ เพื่อเร่งฟื้นฟูพื้นที่ให้ปลอดภัยและกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว

Thailand Web Stat