posttoday

"วิชาญ" แนะ รัฐบาล ควรมี "พ.ร.บ.กู้ชีพ กู้ภัย" ดูแลสวัสดิการอาสา

28 เมษายน 2568

"วิชาญ มีนชัยนันท์” แนะ รัฐบาล ควรมี "พ.ร.บ.กู้ชีพ กู้ภัย" ดูแลสวัสดิการ หลัง กลุ่มอาสากู้ภัยทำงานเสี่ยงสูง แต่ไร้หลักประกัน ไร้แรงสนับสนุน

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร เปิดเผยกรณีอาสากู้ชีพกู้ภัย ที่ปัจจุบันทำงานหนักแต่กลับไม่มีกฎหมายรองรับ ดูแล พร้อม เสนอร่าง พ.ร.บ.กู้ชีพกู้ภัย หวังให้รัฐบาลช่วยคุ้มครองสิทธิ์และสนับสนุน

 

นายวิชาญ เปิดเผยว่า จิตอาสามีหลายประเภท แต่ประเภทหนึ่งที่ทำงานหนักมาก และไม่เคยมีกฎหมายมารองรับอย่างจริงจังคือกลุ่มอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย

 

ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน แต่กฎหมายฉบับนี้คำนึงถึงเฉพาะในกลุ่มของระบบราชการ และเน้นการควบคุมเรื่องรถพยาบาล เรื่องการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ การยกแบบหามผู้บาดเจ็บขึ้นรถอย่างปลอดภัยเท่านั้น

 

แต่กลับไม่ได้มีบทบัญญัติถึงการดูแลหรือการเยียวยาอาสาสมัคร ในกรณีที่หากเกิดปัญหาขณะปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีระบบสนับสนุนในด้านสวัสดิการแต่อย่างใด

 

พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ฉบับนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อภาคเอกชนที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน มีเพียงข้อบังคับ เช่น อายุรถต้องไม่เกิน 7 ปี หากจะผ่อนผันก็เพิ่มได้ไม่เกิน 12 ปี รวมถึงต้องมีการศึกษาหลักสูตรเพิ่มเติมต่าง ๆ มากมาย ในขณะที่ในหมวดของการดูแลสมาชิกภาคประชาชนยังไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน

 

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ กล่าวว่า ตนได้ยกร่าง พ.ร.บ.อีกฉบับหนึ่งขึ้นมาเอง ตอนนี้อยู่ที่ฝ่ายกฎหมายสภาและได้เผยแพร่แล้ว รวมถึงเพิ่งลงนามโดยใช้ช่องทางภาคประชาชน เนื่องจากไม่อยากรอการดำเนินการจากนักการเมือง เพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน

 

ดังนั้นจึงต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองอีกครั้ง ซึ่งตนได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่สมัยนายกเศรษฐา และ สมัยนางสาวแพทองธารก็เคยนำเรียนไปแล้ว

จุดประสงค์หลักของร่าง พ.ร.บ.นี้ คือการดูแลภาคประชาชนที่เข้าไปช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ตึกถล่ม โดยไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีสวัสดิการใด ๆ และต้องจัดหาอุปกรณ์เอง เช่น เครื่องตัดถ่าง เครื่องตัดไฟเบอร์ ที่ต้องใช้แบตเตอรี่ในพื้นที่เข้าถึงยาก

 

นายวิชาญ ยังได้ยกตัวอย่าง กรณีการช่วยเหลือในเหตุการณ์ถ้ำหลวง ว่า อาสาสมัครต้องดูแลกันเอง มีเพียงการบริจาคจากภาคเอกชนเท่านั้น ไม่มีงบประมาณ หรือ การสนับสนุนเรื่องอาหารต่างๆ

"เราไม่ได้บอกว่าเราต้องการเงิน แต่เราต้องการสิ่งที่มันสามารถตอบได้ว่าถ้าเกิดมันมีเหตุภัยพิบัติ มันควรจะมีเงินสักก้อนนึงมาช่วยดูแล"

นายวิชาญ กล่าว

 

นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับว่าหากต้องลางาน เพื่อมาทำภารกิจอาสาจะไม่ถูกหักเงินเดือน ยกตัวอย่าง ในต่างประเทศหากต้องลางานเพื่อมาช่วยจะไม่คิดเป็นวันหยุด เพราะถือว่ามาช่วยรัฐและ มีกฎหมายรองรับจะต้องอนุญาตให้ไปช่วย

 

นอกจากนี้หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะระดมได้เร็วมากเพราะว่าถูกฝึกมาแล้ว แต่ประเทศไทย การฝึกอบรมก็เสียเงินการเข้าไปทำงานทุกอย่างก็ไม่สามารถเข้าไปได้อย่างเต็มที่ ถึงอยากจะเต็มที่ก็ไม่มีเวลา เพราะต้องลาหยุดงานและถูกหักเงินและยังไม่มีใบอะไรรองรับ คิดว่าตรงนี้ก็ควรจะต้องมีกฎหมายรองรับ

นายวิชาญ ยังเน้นว่า พ.ร.บ.นี้ต้องกำหนดให้หากมีภัยพิบัติเกิดขึ้น อาสาสมัครที่ช่วยเหลือควรมีเบี้ยเลี้ยง มีสิทธิในฐานะเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ และหากเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต ก็ต้องมีเงินช่วยเหลือที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ยกตัวอย่างไม่ใช่ต้องรอให้เป็นข่าวแล้วค่อยอนุมัติช่วยเหลือ

 

นอกจากนี้ ยังชี้ปัญหาเรื่องการไม่มีข้อกฎหมายรองรับ เช่น การขอทางฉุกเฉิน หากกู้ภัยฝ่าไฟแดงเพื่อช่วยคนเจ็บ แล้วเกิดอุบัติเหตุ อาสาต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเองทุกกรณี ทั้งที่ควรมีสิทธิขอทางฉุกเฉินเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือดับเพลิง

 

"มูลนิธิต่างๆในปัจจุบันมี 100 กว่ามูลนิธิมีคนที่เป็นอาสาอยู่ในระบบประมาณ 2 แสนกว่านาย รัฐกลับไม่ได้สนใจเหลียวแลมองกับกลุ่มจิตอาสาที่เป็นกลุ่มทำงาน เราเลยรวบรวมแต่ละข้อกฎหมายนำมาให้ทางรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาชุดพ.ร.บ.ขึ้นมา จะได้ดูแลเขาและช่วยดูว่ามีอะไรบ้างที่เขาควรจะได้" นายวิชาญ กล่าว