เปิด 3 โจทย์ท้าทาย ธุรกิจโรงแรม หลังการท่องเที่ยวโตต่อเนื่อง
Krungthai COMPASS เปิด 3 โจทย์ท้าทาย ธุรกิจโรงแรม หลังท่องเที่ยวส่งสัญญาณฟื้นตัว คาดรายได้ของธุรกิจโรงแรมในปี 2567-2568 จะมีมูลค่าราว 9 - 9.6 แสนล้านบาท ชี้ปัจจัยหลักมาจากการแข่งกันเอง นักท่องเที่ยวจีนที่ยังกลับมาไม่เต็มที่ และต้นทุนที่สูง
Krungthai COMPASS ประเมินว่า รายได้ของธุรกิจโรงแรมในปี 2567-2568 จะมีมูลค่าราว 9.0 และ 9.6 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่อัตราการเข้าพัก (OR) และราคาห้องพัก (ADR) ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงปี 2562 แล้ว ส่งผลให้รายได้รวมของธุรกิจโรงแรมในปี 2567 มีแนวโน้มกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด
จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจน และนักท่องเที่ยวไทยที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยในครึ่งแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยกว่า 17.5 ล้านคน หรือฟื้นตัวได้ราว 88% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยก็เพิ่มขึ้นกว่า 136.2 ล้านคน กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้วถึง 21%
“โรงแรม” เป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยโรงแรมถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และส่งผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ รวมถึงยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นผ่านการใช้จ่ายในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหาร แหล่งช้อปปิ้ง และกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ซึ่งในบทความนี้จะชวนทุกท่านมาดูว่า รายได้ของธุรกิจโรงแรมกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดแล้วหรือยัง? และปัจจัยอะไรบ้าง? ที่ต้องจับตา และมีผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
รายได้ธุรกิจโรงแรมโตต่อเนื่องคาดกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2567
แม้ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จะฟื้นตัวได้เพียง 88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าอัตราเข้าพัก (OR) ฟื้นตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยมีค่าเฉลี่ยในระดับ 72.6% ขณะที่ราคาห้องพักที่ขายได้เฉลี่ย (ADR) ก็สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 9% ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,920 บาทต่อห้อง สอดคล้องกับผลสำรวจของ ททท. ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในหมวดค่าที่พักของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ที่มีสัดส่วนมากที่สุดกว่า 35.9% เพิ่มขึ้นถึง 15.2% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ซึ่งก็เป็นอีกภาพสะท้อนว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มใช้จ่ายด้านค่าที่พักสูงขึ้น
OR และ ADR ของโรงแรมในภาคใต้มีการฟื้นตัวที่โดดเด่น และเป็นภูมิภาคเดียวที่ OR กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว โดย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ภาคใต้มี ADR 2,486 บาท/ห้อง สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงแรมโดยรวมเกือบ 30% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคใต้มีสัดส่วนจำนวนโรงแรมและรีสอร์ตในระดับ Upscale และ Luxury ค่อนข้างสูง
ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวในยุคหลังโควิดที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้าพักโรงแรมระดับ 4-5 ดาวเป็นหลัก โดยเฉพาะจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปที่เดินทางเข้าพักเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ OR ของภาคใต้มีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวยุโรปมีระยะเวลาพำนักในไทยนานกว่า 16 วัน สูงกว่านักท่องเที่ยวจีนที่เคยเป็นตลาดหลักของโรงแรมในภาคใต้ช่วงปี 2562 กว่า 2 เท่าตัว
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดว่า ภาพรวม OR ในปี 2567 จะอยู่ที่ราว 70.5% ซึ่งกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดเล็กน้อย และมีโอกาสขยับขึ้นเป็น 71.9% ในปี 2568 ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ OR กลับมาสูงกว่าปี 2562 ได้ ทั้งๆ ที่เราคาดว่าทั้งปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 36.5 ล้านคน ยังต่ำกว่าปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.9 ล้านคน มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 271 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ราว 19%
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ของการปรับขึ้นราคาห้องพักและรายได้จากค่าที่พักโดยรวมคาดว่าโรงแรมระดับ 4-5 ดาว มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ก่อนโรงแรมทั่วไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในยุคหลังโควิด มีแนวโน้มใช้จ่ายด้านค่าที่พักสูงขึ้น และนิยมพักโรงแรมหรู ขณะที่โรงแรมในกลุ่ม 3 ดาวลงไป ยังต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากจำนวนห้องพักที่ค่อนข้างล้นตลาด อีกทั้งกลุ่มลูกค้าหลักอย่างกลุ่ม Backpacker และกรุ๊ปทัวร์ ยังฟื้นตัวได้จำกัด นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้บริโภคยังมีทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น Air BnB เป็นต้น
ทิศทางในช่วงที่เหลือของปี 2567 และแนวโน้มปีหน้า
Krungthai COMPASS ประเมินว่ารายได้ของธุรกิจโรงแรมทั้งปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าราว 9.0 แสนล้านบาท ขยายตัว 13.6%YoY คิดเป็นการฟื้นตัวประมาณ 102% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 รายได้ของธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 20.3%YoY คิดเป็น 101% เมื่อเทียบกับปี 2562 และในช่วงครึ่งหลังที่เหลือเราประเมินว่า รายได้ของธุรกิจโรงแรมจะอยู่ที่ 4.3 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมรายได้ในปี 2567 ขึ้นมาอยู่ที่ 9.0 แสนล้านบาทได้ โดยแบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.0 แสนล้านบาท และนักท่องเที่ยวไทย 4.0 ล้านบาท
สำหรับปี 2568 คาดว่าธุรกิจโรงแรมจะมีรายได้กว่า 9.6 แสนล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัวประมาณ 108% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เร่งตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ที่ 40 ล้านคน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และเรามองว่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 3,500 บาทต่อคน มาอยู่ที่ 3,800 บาทต่อคน ในปี 2568
โรงแรมในเมืองท่องเที่ยวไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายด้านการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้ธุรกิจโรงแรมเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติมาอย่างยาวนาน โดยข้อมูลจาก บจ. คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีก่อนเกิดโควิด (ปี 2552-2561) การซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยมูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2560-2561 ที่มีการซื้อขายโรงแรมเฉลี่ยถึง 2 หมื่นล้านบาท/ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาคการท่องเที่ยวไทยมีอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดด ทั้งนี้ จากภาคการท่องเที่ยวไทยที่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังการคลี่คลายของโควิด ทำให้ภาพรวมการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยในช่วง H1/2567 มีมูลค่ารวมกว่า 5,671 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุย และยังมีโรงแรมอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายอีกจำนวนมาก โดยคาดว่าตลอดปี 2567 จะมีมูลค่าการซื้อขายโรงแรมราว 1.5 หมื่นล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2552-2561 ถึง 24%
เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ ยังคงมองหาโรงแรมเพื่อซื้อเข้า Portfolio และเตรียมที่จะปิดดีลภายในปีนี้ โดยโรงแรมส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อมา Renovate หรือ ปรับปรุงใหม่ เพื่อเตรียมเปิดให้บริการอีกครั้งในอนาคต สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ระบุว่าในช่วงปี 2566-H1/2567 มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI กว่า 17 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของไทย ยังมีศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ในทางกลับกัน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงแรมกลุ่มที่มีศักยภาพของไทย ก็มีการขยายการลงทุนในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมของไทยเล็งเห็นโอกาสในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยในช่วงปี 2565-Q1/2567 หลังจากสถานการณ์โควิดทุเลาลง มีเงินลงทุนโดยตรงจากไทยที่ไหลไปยังต่างประเทศในด้านที่พักแรมและบริการด้านอาหารสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท โดยประเทศ Mauritius มีเงินลงทุนสูงสุดถึง 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวอย่างผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนใน Mauritius ได้แก่ กลุ่ม S Hotels & Resorts ที่ได้มีการลงทุนสร้างโรงแรมหรูอย่าง Outrigger Mauritius Beach Resort เป็นต้น ขณะที่อันดับ 2 คือ U.A.E. ที่มีเงินลงทุนสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายกลุ่มในไทยที่เข้าไปลงทุนในตลาดนี้ เช่น Dusit Centel และกลุ่ม Minor เป็นต้น ทั้งนี้ จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการโรงแรมในไทยยังมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ ฟิลิปปินส์ รวมถึงยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
3 โจทย์ท้าทายกดดันการฟื้นตัวธุรกิจโรงแรม
1) การแข่งขันในธุรกิจโรงแรมที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยหากเราย้อนไปดูข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2562 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของภาคการท่องเที่ยวไทย พบว่า มีสัดส่วนผู้ประกอบการโรงแรมเกิน 50% ที่ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิ เนื่องจากภาวการณ์แข่งขันที่สูง จากการมีผู้ประกอบการในตลาดเป็นจำนวนมาก สะท้อนจาก HHI Index ที่มีค่าเพียง 41 เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันจำนวนห้องพักของธุรกิจโรงแรมยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ ก.ค. 2567 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนห้องพักในธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตมากถึง 6.9 แสนห้อง ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ราว 20.2% สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเพชรบุรี ที่จำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นถึง 26%-36% เมื่อเทียบกับปี 2562 และเป็นที่น่าสังเกตว่า การแข่งขันของโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ในช่วง 1-2 ปีนี้จะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีโรงแรมที่เตรียมเปิดตัวในปี 2567-2568 ถึง 140 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Upscale (ราคาห้องพัก 3,000 บาทขึ้นไป) โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เป็นต้น
และหากมองลึกลงไปถึงภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค พบว่า การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในไทยค่อนข้างสูง สอดคล้องกับข้อมูลจาก The Travel & Tourism Development Index 2024 ที่ชี้ว่าประเทศไทยมีจำนวนห้องพักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนถึง 52% ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน และอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมโอเชียเนีย) เป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์เท่านั้น โดยสัดส่วนจำนวนห้องพักของไทยอยู่ที่ 1.12 ห้อง/จำนวนประชากร 100 คน ขณะที่สัดส่วนจำนวนห้องพักเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 0.60 ห้อง/จำนวนประชากร 100 คน เท่านั้น นอกจากนี้ ยังต้องแข่งขันกับผู้เล่นใหม่ๆ เช่น กลุ่ม Home Sharing อย่าง Air BnB ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น รวมถึงยังต้องติดตามประเด็นเรื่องการแก้กฎหมายให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมได้ถึง 75% เนื่องจากอาจทำให้มีการปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมรายวันแข่งกับโรงแรมมากขึ้น และท้ายที่สุดจะส่งผลให้ปัญหาสงครามราคาในธุรกิจโรงแรมรุนแรงยิ่งขึ้น
2) จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า โดยนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย สะท้อนจากช่วงก่อนโควิด ในปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยถึง 11.1 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 27.9% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังไทยในปี 2567-2568 จะอยู่ที่ 7.5 และ 9.7 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นการฟื้นตัวราว 68% และ 87% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ขยายตัวต่ำ ส่งผลให้ชาวจีนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น สวนทางกับต้นทุนในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลจีนก็พยายามกระตุ้นให้ชาวจีนท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก โดยข้อมูลจาก Statista ชี้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2567 จะอยู่ที่ราว 130 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นการฟื้นตัวเพียง 84% ของปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนถึง 154.6 ล้านคน
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยยุคหลังโควิด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยตนเอง (F.I.T) เป็นหลัก โดยผลสำรวจจาก ททท. ณ ก.ค. 2567 พบว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่ม F.I.T. มีสัดส่วนถึง 77% ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีสัดส่วนเพียง 40% เกือบเท่าตัว โดยนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จีนถือเป็นตลาดหลักของโรงแรมในระดับไม่เกิน 3 ดาว ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ของไทย ขณะที่กลุ่ม F.I.T มักนิยมพักในโรงแรมระดับ 4-5 ดาว เป็นหลัก สอดคล้องกับข้อมูลการใช้จ่ายด้านที่พักของนักท่องเที่ยวจีนในปี 2566 ที่มีมูลค่า 22,663 บาท/คน ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนโควิด ถึง 91%ทำให้ในช่วง 1-2 ปีนี้ การฟื้นตัวของลูกค้าชาวจีนในโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว จะยังช้ากว่าโรงแรมระดับบนอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ การแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่ต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวจีนก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยปัจจุบันมีประเทศที่ให้วีซ่า-ฟรี แก่นักท่องเที่ยวจีนรวมกว่า 40 ประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ มัลดีฟส์ เป็นต้น
3) ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจยืนสูงยกแผง โดยเฉพาะค่าแรงที่มีสัดส่วนถึง 30% ของต้นทุนโดยรวมของธุรกิจโรงแรม ขณะที่ภาครัฐมีแนวทางที่จะปรับค่าจ้างขั้นเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2567 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีสัดส่วนผู้ประกอบการที่จ่ายค่าแรงงานต่ำกว่า 400 บาท/วัน สูงถึง 71% นอกจากนี้ ยังถูกซ้ำเติมจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ยังยืนสูง และต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการโรงแรมในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนยังทำได้จำกัดเนื่องจากภาวการณ์แข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงซึ่งปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะยังคงกดดันความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจโรงแรมในระยะ 1-2 ปีนี้ แม้ว่าภาพรวมรายได้จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวก็ตาม
ผู้ประกอบการโรงแรมควรรับมือกับความท้าทายอย่างไร?
เพื่อรับมือกับความท้าทายและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการโรงแรมควร
1) ใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับโรงแรมอื่นๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การใช้ธีมเฉพาะที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น โรงแรม Grande Centre Point Space Pattaya ที่มีการออกแบบในธีมโลกอวกาศ ซึ่งมีความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่ต้องการพาเด็กๆ มาท่องโลกอวกาศ
2) มองหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อทดแทนลูกค้าจีน โดยเฉพาะกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น ลูกค้ากลุ่มรักษ์โลก ซึ่งทางมีการที่มีการใช้จ่ายด้านที่พักสูงกว่าลูกค้าทั่วไปถึง 13%-25% โดยผู้ประกอบการอาจขอการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐาน Green Hotel จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มรักษ์โลก
3) นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เช่น โรงแรมในเครือ Four Seasons มีการใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลการจอง และประวัติการเข้าพักของลูกค้า เพื่อกำหนดตารางเวลาของพนักงานให้เหมาะสมในแต่ละช่วง ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานลดลงและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดีขึ้น หรือการนำ AI มาควบคุมการใช้พลังงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการวิเคราะห์รูปแบบการใช้พลังงานของแขกที่มาเข้าพัก การพยากรณ์อากาศ และข้อมูลการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถปรับระบบการทำความร้อน ความเย็น และแสงสว่างได้อย่างเหมาะสม