"สรวงศ์" คุยเอกชนท่องเที่ยว จ่อฟื้น เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง
สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จ่อฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง กระตุ้นไทยเที่ยวไทย แต่ปรับใหม่ให้กระจายรายได้และการท่องเที่ยวมากกว่าเดิม
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เชิญภาคเอกชนท่องเที่ยวรวมกว่า 20 หน่วยงาน ร่วมประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องความต้องการของผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว
โดยนายสรวงศ์ ยืนยันเป้าหมายปี 2567 สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาทตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เคยตั้งไว้ ยอมรับว่าเป็นไปได้ยากและท้าทายมาก แต่จะผลักดันให้ดีที่สุด โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นไตรมาส 4
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ารายได้รวมการท่องเที่ยวปีนี้จะทะลุ 3 ล้านล้านบาทตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กลับไปเท่ากับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดได้อย่างแน่นอน
รายงานสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.ย. 2567 มีจำนวน 24,810,988 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 1,162,419 ล้านบาท
ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
จีน 5,002,975 คน
มาเลเซีย 3,517,586 คน
อินเดีย 1,442,978 คน
เกาหลีใต้ 1,316,895 คน
รัสเซีย 1,119,768 คน
ฟื้นไอเดีย “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง”
นายสรวงศ์ กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ ค่าเหยียบแผ่นดิน ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการจัดเก็บ เพราะเห็นถึงความจำเป็นในการนำเงินไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ต้องขอดูรายละเอียดและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ว่าจะจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินในรูปแบบใด เพื่อไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังมีไอเดียนำโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือ “คนละครึ่ง” กลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการส่งเสริมตลาดไทยเที่ยวไทย เพราะเป็นแคมเปญที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ แม้แต่ร้านอาหารขนาดเล็กก็ได้อานิสงส์ไปด้วย โดยต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแคมเปญลักษณะนี้อย่างละเอียดอีกครั้งว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง
สำหรับนโยบายด้านการท่องเที่ยว นายสรวงศ์ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในหลายมิติ โดยเน้นการอำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจลงตราสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ การกระจายรายได้ไปยังจังหวัดท่องเที่ยวรองที่เรียกว่า “เมืองน่าเที่ยว” ผ่านแคมเปญต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนี้ ยังเน้นการผลักดัน Soft Power ของประเทศไทย และสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้มหาศาล
ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness tourism) นายสรวงศ์ ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุ เนื่องจากเชื่อว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านการบริการที่เป็นเลิศ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือ low Carbon tourism และการสนับสนุนโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่ดำเนินการด้านนี้ พร้อมพิจารณาการปรับปรุง MOU ที่ล้าสมัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง
นโยบายด้านกีฬา ในด้านการกีฬา กระทรวงฯ มุ่งพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยในทุกระดับ ตั้งแต่กีฬาพื้นฐานและกีฬามวลชน เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีและส่งเสริมนักกีฬาสู่ความเป็นเลิศ การใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาร่างกายและสร้างวินัยให้กับนักกีฬา รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก เช่น ASEAN Para Games และ SEA Games 2025
นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักกีฬาที่กำลังเติบโตในระดับเยาวชน ด้วยการพิจารณามาตรการช่วยเหลือในเรื่องการเดินทาง เช่น พาสปอร์ตพิเศษหรือวีซ่าสำหรับนักกีฬา