19ธันวาคม ชุมพรจัดงาน 'อาภากรรำลึก' คล้ายวันประสูติ 'เสด็จเตี่ย'
ชุมพรจัดงานเทิดพระเกียรติ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ น้อมรำลึก 19 ธันวาคม คล้ายวันพระสูติ ย้อนเรื่องราวแต่หนหลังเหตุใดคนไทยเรียก'เสด็จเตี่ย'จากพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณต่อนักเรียนนายเรือ ระหว่างการฝึกภาคปฏับัติทางทะเล
จังหวัดชุมพร จัดงานเทิดพระเกียรติพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และงานกาชาดจังหวัดชุมพร ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 18 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ต.บางลึก อ.เมืองชุมพร
“วันอาภากรรำลึก” ตรงกับวันที่ 19ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันประสูติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อวันที่19 ธันวาคม 2423
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ทรงได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย”
ต่อมาได้แก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก
พลเรือโทศรี ดาวราย บันทึกในบทความชื่อ "ชีวิตนักเรียนนายเรือ พ.ศ.2462" ระหว่างออกฝึกภาคสนามทางทะเล ที่สัตหีบ ถึงที่มา พระสมัญญา"เสด็จเตี่ย" พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ เช้าวันหนึ่งมีการขัดหินทรายและเช็ดล้างดาดฟ้าไม้ที่ท้ายเรือ เป็นเวลาเดียวกันที่ทรงประทับยืน ณ ที่นั้นได้ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนใหม่ เงอะงะ เก้งก้าง ทำงานไม่เป็นจึงตรัสว่า "อ้ายลูกขายมานี่ เตี่ยจะสอนให้"แล้วทรงงานให้ดูเป็นตัวอย่างจนเสร็จโดยมิได้ถือพระองค์ สร้างความปลื้มปิติเคารพนักของนักเรียนนายเรือทั้งปวงพากันเรียกพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" ตราบเท่าทุกวันนี้
เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 15 ตุลาคม 2558 กล่าวถึงการเรียกพระองค์ นอกจาก เสด็จเตี่ย แล้ว ในหมู่พระโอรส พระธิดา และทหารผู้ใกล้ชิด ก็ยังโปรดให้เรียกพระองค์ว่า 'ติ๊ดเตี่ย' นายพลเรือ พระยาหาญกลางสมทร (บุญมี พันธุมนาวิน) ก็เคยเขียนชี้แจ้งว่า ตอนที่ทรงเป็น'หมอพร'รักษาคนโดยไม่คิดค่ารักษา คนจีนก็เรียกพระองค์ว่า 'เตี่ย และว่าคนไทยเรียก 'ทิดเตี่ย' ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นความชอบส่วนพระองค์