posttoday

เปิดภาพประวัติศาสตร์ไทยประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม

16 มกราคม 2568

นายกฯอิ๊งค์ร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์ เนื่องในโอกาสไทยประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมเปิดให้จดทะเบียนทั่วประเทศ 23ม.ค.68

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์เพื่อประชาสัมพันธ์ เนื่องในโอกาสประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ณ บริเวณสนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15มกราคม 2567  

นายทะเบียน 878 อำเภอทั่วประเทศและ50เขต กทม.โดยกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย พร้อมให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม วันที่ 23มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมตามกฎหมายฉบับใหม่โดยสถานะหลังจดทะเบียนสมรสจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่สถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

คุณสมบัติผู้จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม

1. บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย
กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล
2. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
3. ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
4. ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
5. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
6. หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
สมรสกับคู่สมรสเดิม
บุคคลที่มีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้ 
มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์

  • เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส

1. บัตรประจำตัวประชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
2. สำเนาหนังสือเดินทางกรณีชาวต่างประเทศ
3. หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้น มอบหมาย พร้อมแปล(กรณีชาวต่างประเทศขอจดทะเบียนสมรส)
4. สำเนาทะเบียนบ้าน

  • สถานที่จดทะเบียนสมรส

สำนักทะเบียนอำเภอ , สำนักทะเบียนเขต , และสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ

  • ค่าธรรมเนียม

การจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จด ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน ต้องเสียค่าธรรมเนียน 200 บาท