โรงแรมไทยกับความยั่งยืน "เส้นทางที่ยังอยู่แค่จุดเริ่มต้น"
การได้รับมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากลของโรงแรมไทยที่มีเพียง 100 แห่งในปี 2567 สะท้อนความท้าทายในการยกระดับสู่มาตรฐานโลก โดยเฉพาะเมื่อ EU เตรียมบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ด้านความยั่งยืนที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงแรมไทยในอนาคตอันใกล้
การออกข้อกำหนดด้านความยั่งยืนใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) อย่าง Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) และ Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) ซึ่งบังคับให้บริษัทในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงโรงแรมต่างชาติ ต้องเปิดเผยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมภายในปี 2569 กำลังสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โรงแรมไทยต้องเร่งปรับตัว
ปัจจุบันมีโรงแรมไทยกว่า 20,000 แห่งขายห้องพักบนแพลตฟอร์มจองโรงแรม เช่น Booking.com และ Agoda ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืนของ EU ส่งผลให้โรงแรมต้องเร่งรับรองมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล เช่น Greenkey, Green Globe, Travelife, EarthCheck และมาตรฐานของไทยอย่าง Green Hotel Plus ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
อย่างไรก็ตาม โรงแรมไทยในภาพรวมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการก้าวสู่ความยั่งยืน โดยมีโรงแรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านนี้เพียงประมาณ 100 แห่ง หรือไม่ถึง 1% ของโรงแรมทั้งหมด และยังคงกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูเก็ต ขณะที่โรงแรมส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมด้านเงินทุน ความรู้ และบุคลากร
ความท้าทายด้านความยั่งยืน
1. การขาดความเข้าใจและความสำคัญในระยะยาว: โรงแรมขนาดกลางและเล็กยังไม่เห็นผลประโยชน์ของการลงทุนในด้านความยั่งยืน
2. ความพร้อมที่จำกัด: ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงแรมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขาดเงินทุนและทรัพยากรในการเปลี่ยนแปลง
3. แรงกระตุ้นที่ไม่เพียงพอ: ขาดนโยบายและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงความต้องการจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ชัดเจน
โจทย์ด่วนโรงแรมไทย กับคำว่า "ยั่งยืน"
แนวทางพัฒนาโรงแรมไทยสู่ความยั่งยืน
เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ โรงแรมไทยจำเป็นต้องปรับตัวใน 3 ด้านสำคัญ (3T):
1. Target: ตั้งเป้าหมายความยั่งยืนที่ชัดเจน พร้อมแผนดำเนินงานและตัวชี้วัดที่ตรวจสอบได้
2. Teamwork: สร้างความรู้ความเข้าใจให้พนักงาน ซัพพลายเออร์ และผู้เข้าพัก พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน
3. Transform: เริ่มจากการลดการใช้พลังงานและทรัพยากร ไปจนถึงการลงทุนในพลังงานทดแทนและการปรับปรุงอาคารเขียว
บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุน
ภาครัฐควรสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของโรงแรมไทยผ่าน:
- กองทุนความยั่งยืน: ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้โรงแรม โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก เพื่อเข้าถึงเงินทุนสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืน
- สิทธิประโยชน์ทางภาษี: มอบสิทธิพิเศษสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน การฝึกอบรมบุคลากร และการขอรับรองมาตรฐานสากล
- การสร้างวัฒนธรรมความยั่งยืน: ส่งเสริมการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนในภาคธุรกิจและสังคม
ความสำคัญในระดับสากล
ในยุคที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนราว 20% ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทย ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น โรงแรมไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
บทความโดย ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม