รอได้ต้อง "ไทยไทม์"
ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
สมัยเรียนหนังสือ ตอนเด็กๆ จะเจอคนประเภทสายเสมอเป็นประจำ ผ่านมา 30 ปี พฤติกรรมนี้ก็ยังเห็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องไม่ตรงเวลา ไม่เฉพาะที่โรงเรียน แต่ในทุกวงการ ภาครัฐ เอกชน องค์กร สำนักงาน ครอบครัว งานเลี้ยง เพื่อนฝูง กระทั่งการประชุมระดับชาติ จนประทับตราได้ว่า นี่เป็นนิสัยยอดแย่ของคนไทย
แต่ก่อนพฤติกรรม “ไม่ตรงเวลา” ในห้อง ไม่ได้เกิดกับเด็กนักเรียนที่มาสาย ครูหลายคน ตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม จนถึงอุดมศึกษา ก็มาสายให้เห็น สมัยนี้ไม่รู้ยังมีหรือไม่ แต่ฟังเสียงเล่ารอบตัวก็รู้ว่ายังหนักหนาสาหัส ไม่ต่างจากเดิมเท่าไร
นึกย้อนไปถึงตอนเรียนลูกเสือ ยังมีเพลงตรงต่อเวลาออกมาเตือนสติ หลายคนยังพอจำได้ “ตรงต่อเวลา พวกเราต้องมาให้ตรงเวลา เราเกิดมาเป็นคนต้องหมั่นฝึกตนให้ตรงเวลา วันคืนไม่คอยท่า วันเวลาไม่เคยคอยใคร”
ทุกคนพร่ำสอน ตรงต่อเวลา สุดท้ายคนสอนก็ไม่เที่ยงตรง เลยไม่ศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่ต้องมาเป็นประธานในพิธี ยังมาสายให้แขกนั่งรอจนตูดเปียก นับประสาอะไรจะมาเป็นแบบอย่างเยาวชน
การมาสายมีทุกระดับ ง่ายๆ คือ เวลานัดเพื่อนไปเที่ยว เป็นที่รู้กัน ถ้านัด 10 โมง เวลาจริงคือ 10 โมงครึ่ง ใช้ได้กับทุกวาระกลายเป็น มาตรฐาน “ไทยไทม์” (Thai time) เวลาจริงพี่ไทยจะสายได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง หรือการทำงานหน่วยราชการหลายแห่ง แต่ก่อนจะเห็นชัด ประชาชนมาก่อนและคอยข้าราชการเสมอ กว่าจะดีขึ้นในปัจจุบันก็ถูกร้องเรียน ก่นด่าไปหลายยก
ขนาดการสอบที่ต้องเที่ยงตรงเรื่องเวลา หลายที่ก็ยังอะลุ้มอล่วย ยอมให้เข้าสาย เพราะเห็นใจข้ออ้างสุดฮิต “รถติดครับ”
นาฬิกาติดผนังบางสำนักงานต้องตั้งเร็วกว่า 10 นาที เพื่อหลอกกึ่งกระตุ้นให้คนทำงานเร่งมือ อย่าโอ้เอ้ จะประชุมก็ต้องเที่ยงตรง อย่าเลยเถิดไปครึ่งชั่วโมง เช่นเดียวกับนาฬิกาของคนทั่วไป ผู้ที่ชอบเตือนสติตัวเอง อย่าเหลวไหล ก็จะตั้งเวลาเร็ว จนบางทีจากตื่นตัวกลายเป็นตื่นตูมไป
ข้อแก้ตัวของ “คนมาสายไม่ตรงเวลา” มีหลายเหตุผล บางคนทำจนเคยชินจนจับไต๋ได้ ประเภทที่ว่า อีก 10 นาทีถึงแน่ นั่นหมายถึงเพิ่งออกจากบ้าน แต่พูดให้เกิดความหวังว่า “ใกล้แล้ว” พอซักไปอีกครั้ง ใกล้มากแล้วอีกสองโค้งถึง แปลความหมายได้ว่า อีกครึ่งชั่วโมงถึง ถ้าบอกว่า ถึงแล้วอีกแปบ จงอย่าตายใจ นั่นหมายความว่า เขาหรือเธอผู้นั้นยังอยู่อีกไกล
การไม่ตรงต่อเวลา พลอยทำให้ “คนที่ตรงเวลา” กลายเป็นคนแปลกประหลาดไป ใครมาถึงก่อน ผลที่ได้ถูกแดกดันไปตามระเบียบว่า “เอ็งจะไปรีบไปไหน ไม่เห็นมีใครเขามากัน” “ใจเย็นๆ ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” คนที่ยึดมั่น การตรงต่อเวลา ไม่ให้เสียนิสัย เลยต้องปรับให้เข้ากับสภาพสังคมตามเวลามาตรฐานประเทศไทย สายได้ไม่เกิน 30 นาที ถึงจะครบองค์ประชุม
ที่ญี่ปุ่นหรือชาติตะวันตกว่ากันว่าที่เคร่งครัดสุดคือ เยอรมนี นัดหมายเวลาไหนก็คือเวลานั้น บางทีต้องมาก่อนเวลา 10 นาที เพื่อมาเตรียมตัวก่อนด้วยซ้ำ เสียงบ่นต่างชาติมึนงงกับคนไทยที่ไม่ตรงเวลา บ้างวิพากษ์นี่คือ เอเชียนไทม์ ผิดนัดบ่อยครั้งมากเข้า เลยไม่อยากนัดหมาย คบค้าสมาคม กระทั่งเสียรายได้จากเหตุผิดนัด
นิสัยคนไทยถูกต้องแล้วแหละ อย่างที่บอก ขนาดประชุมระดับประเทศ สถาบันนิติบัญญัติของประเทศ คนระดับสูงทุกวงการ มีหน้าที่ออกกฎหมายบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ ก็ยังไม่ออนไทม์ (On time) ตามมาตรฐานสากล แต่ยึดไทยไทม์
สภาผู้แทนราษฎร (สส.) วุฒิสภา (สว.) เวลานัดหมายประชุม 10.00 น. ท่านประธานกดออดเรียกแล้วเรียกอีก กว่าจะมาเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม ขอย้ำว่า แค่เกินกึ่งหนึ่ง ไม่ได้มาครบ 200 หรือ 400 คน ก็ปาเข้าไป 10.30 น. ถึงจะเริ่มได้
วันนี้เข้าสู่ยุคปฏิรูปก็ยังเหมือนเดิม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มาทำหน้าที่ปฏิรูประบบประเทศ และจิตวิญญาณของผู้คนก็ยังมีพฤติกรรม “ไม่ตรงเวลา” ไม่ต่างจากนักการเมือง สส. สว. สายเฉลี่ยครึ่งชั่วโมง ไม่นับบรรดาการประชุมคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาเหล่านี้ อีกหลายสิบคณะ แทบไม่มีคณะไหนตรงเวลาเลย
ผู้แทนประชาชนผ่านระบบเลือกตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิจากระบบพิเศษเป็นอย่างไร ก็สะท้อนว่าสังคมไทยเป็นอย่างนั้น
แต่ใครจะว่าคนไทยนิสัยเสีย ไม่น่าจริงกระมัง บางเรื่องเรามาก่อนเวลานัดหมายเป็นวัน ประเภทต่อคิวซื้อไอโฟนเครื่องแรกในไทย ปักหลักนอนรอหน้าร้านข้ามวันข้ามคืน ขนมเลิศรส เทรนด์ใหม่ที่เข้ามาทั้ง ป๊อปคอร์น ขนมรูปปลา สามารถต่อคิวยาวเหยียดเกือบชั่วโมงกว่าจะได้ซื้อ หรือการดูหนังฟรี แลกฝาลดราคาตั๋ว อันนี้ก็หาได้พลาดไม่ มาก่อนเวลาหลายชั่วโมง
ถ้าเป็นเรื่องความอยากได้ ของฟรี ขอให้บอก รอได้เป็นชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเรื่องงาน ภารกิจ การขอความร่วมมือ อันนี้ก็ว่าไปตามพี่ไทยแล้วกัน ทางแก้ที่ดีน่าจะปรับเวลาของประเทศไทยใหม่ให้เร็วขึ้นกว่าทุกชาติ แถมของฟรีอีกสักนิดก็น่าจะดี