posttoday

รู้หรือไม่?คุณเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้างต่อรถ1คัน

29 เมษายน 2559

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สมัยนี้ รถยนต์เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง ที่หลายๆ คนอยากจะมีไว้ในครอบครอง แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้องคิดหนักเวลาที่จะซื้อรถซักคันไว้ใช้งาน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สมัยนี้ รถยนต์เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง ที่หลายๆ คนอยากจะมีไว้ในครอบครอง แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้องคิดหนักเวลาที่จะซื้อรถซักคันไว้ใช้งาน โดยเฉพาะการซื้อรถใหม่ป้ายแดง หรือรถมือหนึ่ง วันนี้ MoneyGuru.co.th จะพามาดูกันว่า การซื้อรถใหม่1คัน คุณจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

1. ดอกเบี้ยจากการผ่อน

สำหรับคนที่ซื้อรถยนต์ด้วยเงินสด อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่สำหรับคนที่ซื้อรถในรูปแบบสัญญาเช่าซื้อ จะต้องผ่อนงวดรถให้กับธนาคารที่จัดไฟแนนซ์ให้โดยจะต้องจ่ายเงินทุกเดือน ไปจนครบตามงวดที่ตกลงกันไว้ ซึ่งค่างวดที่ผ่อนไปนั้น ไม่ได้มีเฉพาะค่าซื้อรถเท่านั้น แต่ยังมีดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายให้ธนาคารด้วย เพราะการที่ธนาคารจัดไฟแนนซ์ให้เรานั้น หมายถึง เรายืมเงินธนาคารไปซื้อรถนั่นเอง เราก็เลยต้องมาผ่อนจ่ายเงินกับธนาคาร แต่ละธนาคารก็จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันไป ซึ่งยิ่งมีระยะเวลาการผ่อนนาน ก็ยิ่งต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้น

ดังนั้น การมีดอกเบี้ยต่ำ แต่ผ่อนนานก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไป เพราะจะทำให้เราต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้นตามระยะเวลา ซึ่งการคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารที่คุณผ่อนรถอยู่มาคำนวณ หรืออาจเอาจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละงวด คูณด้วยจำนวนงวด แล้วลบด้วยราคารถ คุณก็จะได้จำนวนดอกเบี้ยที่คุณต้องจ่ายออกมา ซึ่งบ้างครั้งตัวเลขที่คำนวณได้อาจจะทำให้คุณต้องตกใจเลยทีเดียว อ่านตรงนี้แล้ว ลองไปหยิบตารางผ่อนรถของคุณมาคำนวณเล่นๆดูได้เลยครับ

ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย= (จำนวนเงินที่ต้องจ่ายแต่ละงวดxจำนวนงวด) -ราคารถ

2.เบี้ยประกันภัยรถยนต์

นอกจากดอกเบี้ยในการผ่อนจ่ายงวดรถแล้ว คุณยังต้องเสียค่าเบี้ยประกันภัยจากการทำประกันภัย ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535หรือ พ.ร.บ.ซึ่งเป็นประกันภัยภาคบังคับ

สำหรับรถยนต์ทั่วไปที่มีที่นั่งไม่เกิน7คน จะต้องจ่ายในอัตรา600บาทต่อปี(ไม่รวมภาษีอากร)หากที่นั่งเกิน7คน ก็จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นตามลำดับ

และหากคุณทำสัญญาเช่าซื้อ หรืออยากได้ความคุ้มครองที่มากกว่า คุณสามารถทำประกันภัยรถยนต์เพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่คุณต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น โดยมีประเภทความคุ้มครองและเบี้ยประกันต่างกันไปครับ

3.ค่าจดทะเบียนรถ

ค่าจดทะเบียนรถ รถที่ออกใหม่จะยังไม่มีการจดทะเบียนใดๆ จะต้องมีการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเสียก่อน จึงจะสามารถนำไปขับบนท้องถนนได้อย่างถูกกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เพื่อตัดปัญหาความยุ่งยากของการเตรียมเอกสาร บริษัทผู้ขายรถมักดำเนินการให้ โดยมีค่าบริการที่หลักพันบาท แต่หากเรารู้วิธีการว่า ต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้างในการจดทะเบียน เราก็สามารถตัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้อย่างสบายมากเลยครับ กรมการขนส่งทางบกก็ได้ให้ข้อมูลส่วนนี้ไว้แล้ว คุณสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบกครับ

4.ภาษีรถยนต์

นอกจากนี้ คุณยังต้องเสียภาษีรถยนต์ประจำปีอีกด้วย รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน7คน จะเก็บตามความจุกระบอกสูบ(ซีซี)ยิ่งรถมีความจุกระบอกสูบมาก ก็ยิ่งต้องเสียภาษีมาก โดย...

รถขนาด   600       ซีซี         จะเสียภาษีซีซีละ      0.50      บาท

รถขนาด   601 - 1,800ซีซี    จะเสียภาษีซีซีละ       1.50     บาท

แต่ถ้าเกิน 1,800   ซีซี         จะเสียภาษีซีซีละ       4           บาท

5.ค่าบำรุงรักษาตามระยะทาง

ค่าบำรุงรักษาตามระยะทาง การเปลี่ยนของเหลว เช่น น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก ผ้าเบรค ยางรถ ฯลฯ ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่แต่ละศูนย์บริการกำหนด และจ่ายตามคุณภาพของสินค้า ยางรถอาจจะมีราคาตั้งแต่เส้นละ2,000 - 4,000บาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท มักจะต้องเปลี่ยนทุกๆ30,000 - 50,000กิโลเมตร ซึ่งจะต้องตรวจเช็คอุปกรณ์ อะไหล่ติดรถอยู่เสมอ และเตรียมค่าใช้จ่ายให้เพียงพอกับการบำรุงรักษา เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่

6.ค่าน้ำมัน

และค่าใช้จ่ายที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ ค่าเชื้อเพลิง นั่นเอง ค่าเชื้อเพลิงนั้น ขึ้นลงตามราคาตลาดโลก คุณจึงต้องติดตามข่าวสารบ่อยๆ เพราะปกติข่าวน้ำมันขึ้นหรือลดราคา จะออกมาก่อนที่น้ำมันจะขึ้นหรือลดราคาประมาณ1วัน คุณจึงสามารถวางแผนการเติมน้ำมันของรถคุณได้ครับ เช่น ถ้าข่าวประกาศว่า น้ำมันจะขึ้นราคาในวันรุ่งขึ้น คุณก็ควรเติมน้ำมันให้เต็มถังในวันนี้ เพื่อให้ได้ราคาที่ดีกว่า เป็นต้น   

นอกจากค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด ยังมีค่าใช้จ่ายปลีกย่อยอีกมากมาย เช่น ค่าล้างรถ ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ เป็นค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่คุณสามารถนำไปคิดคำนวณดู ก่อนจะออกรถมาใช้ซักคันหนึ่ง ว่าจะคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไปหรือไม่ครับ

ติดตาม เคล็ดลับด้านรถยนต์และประกันภัยรถยนต์  ได้ที่ MoneyGuru.co.th ครับ