เพราะลูกยังเล็กซื้อ ประกันสุขภาพเด็ก ไว้คุ้มครอง

21 มกราคม 2553

พ่อแม่รุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มองการณ์ไกล ทำประกันสุขภาพให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในยามที่ลูกเจ็บป่วย 

พ่อแม่รุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มองการณ์ไกล ทำประกันสุขภาพให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในยามที่ลูกเจ็บป่วย 

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

คนมีลูกน่าจะเข้าใจว่า เด็กเล็กๆ เดี๋ยวก็เจ็บ เดี๋ยวก็ป่วย คุณพ่อคุณแม่พากันเดินเข้าเดินออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น และสมัยนี้เข้าโรงพยาบาลแต่ละทีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยๆ โชคร้ายน้อยหน่อยก็แค่หลักพัน โชคร้ายมากหน่อยก็ขึ้นหลักหมื่น

เฮ้อ! ไหนจะต้องกลุ้มใจที่เห็นลูกไม่สบายแล้ว ยังต้องกุมขมับกับค่ารักษาพยาบาลเข้าไปอีก คุณพ่อคุณแม่หลายคนเลยคิดถึงการทำ"ประกันสุขภาพ" เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น

แต่การทำประกันสุขภาพสำหรับเด็ก ถ้าจะบอกว่าง่าย มันก็ง่ายมากๆ เพราะเพียงแค่ยกหู (หรือแค่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาจิ้มสองสามที) โทรศัพท์ไปหา "ตัวแทนประกัน" ที่รู้จัก เท่านี้ตัวแทนประกันก็จัดการหาแบบประกันที่เหมาะสมตรงกับความต้องการในราคาที่พอรับได้

แต่ถ้าคิดว่าแบบนี้มันง่ายเกินไป ยังไม่ทันได้ใช้ฝีมือที่มีอยู่ให้เต็มที่ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำการบ้านกันสักหน่อย หาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หลายๆ เจ้าและก่อนที่จะหาความรู้จากแหล่งอื่น ลองรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการทำประกันสุขภาพเด็กมาให้เพื่อเป็นเกราะกันภัย ก่อนจะไปคุยกับตัวแทนประกัน (จะได้คุยกันรู้เรื่อง)

คลอดปุ๊บ ทำประกันปั๊บ!

ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจเต็มที่ที่จะทำประกันสุขภาพเป็นของขวัญวันเกิดตั้งแต่อุแว้! อุแว้! ออกมาดูโลก ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะประกันโดยทั่วไปจะยังไม่รับทำประกันให้กับเด็กแรกเกิด อย่างน้อยๆต้องรอให้ลูกอายุครบ 15 วันเสียก่อน

นั่นเพราะบริษัทประกันภัยจะยอมทำประกันให้ทารกที่มีอายุตั้งแต่ 15 วันเป็นต้นไป ขณะที่บริษัทประกันชีวิตจะกำหนดอายุที่ทำรับประกันไว้ที่ 1 เดือนกับอีก 1 วัน

สาเหตุที่ทำให้บริษัทประกันไม่ว่าจะประกันภัยหรือประกันชีวิตไม่ยอมทำประกันให้กับทารกแรกคลอด คือ เด็กในวัยต่ำกว่า 1 เดือนมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเจ็บป่วย

แม้กระทั่งประกันภัยสุขภาพแบบครอบครัวของ LMG Pacific Healthcare ที่โฆษณาว่า "ความคุ้มครองเด็กแรกเกิด ฟรี!" เพราะทารกแรกเกิดที่เกิดในระหว่างกรมธรรม์มีผลบังคับจะได้รับความคุ้มครองภายใต้แผน "ค่ารักษาพยาบาลและผ่าตัดเบื้องต้น"โดยไม่ต้องเสียเบี้ยประกันเพิ่มจนกว่ากรมธรรม์จะหมดอายุ แต่ต้องแจ้งบริษัทประกันภัยเมื่อเด็กมีอายุครบ 15 วัน

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่คิดเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องทำประกันให้ลูกตั้งแต่ลืมตาดูโลก ก็ไม่ได้หมดหนทางเสียทีเดียว เพราะถ้าจำโฆษณาสุดซึ้งชุด Que sera sera ของบริษัท ไทยประกันชีวิตได้ก็น่าจะพอได้ยินชื่อ "กรมธรรม์ก้าวแรก" ที่บอกว่าจะคุ้มครองลูกน้อยตั้งแต่เขายังอยู่ในท้อง

ไม่ใช่ว่าแค่ซื้อกรมธรรม์นี้แล้วทั้งแม่ลูกจะได้รับความคุ้มครองไปพร้อมๆ กัน แต่คุณแม่ (คุณพ่อหมดสิทธิ) ที่ซื้อกรมธรรม์นี้จะสามารถซื้อประกันแบบเดียวกันนี้ให้กับลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด และสิทธินี้จะคงอยู่ไปจนถึงอายุ 90 วัน

นอกจากนี้ ยังไม่จำกัดจำนวนและเพศของลูกที่จะรับทำประกัน เพียงแต่ต้องเป็นลูกที่เกิดภายใน 5 ปีแรกของกรมธรรม์แม่

บริษัท ไทยประกันชีวิต จะรับทำประกันให้แบบไม่มีเงื่อนไขและไม่ต้องตรวจสุขภาพ ซึ่งไม่สามารถทำได้กับกรมธรรม์อื่นๆ เพียงแต่จะซื้อประกันที่มีทุนประกันและความคุ้มครองประกันสุขภาพเกินไปจากที่แม่ซื้อไม่ได้ ทำให้การซื้อประกันให้ลูกเป็นเหมือนประกันคู่ เวลาจ่ายเบี้ยก็ต้องจ่ายกันเป็นคู่

เด็กเล็กๆ แต่เบี้ยประกันไม่เล็ก

เห็นเป็นเด็กตัวเล็กๆ อย่าคิดว่าเบี้ยประกันจะเล็กตามไปด้วย เพราะอย่างที่บอกแล้วว่ายิ่งเป็นเด็กเล็กยิ่งมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยกว่าเด็กโต เพราะฉะนั้นบริษัทประกันจึงกำหนดอัตราเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับเด็กเล็กๆ เอาไว้สูงกว่าเด็กโตค่อนข้างมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้มีความแตกต่างเรื่องเบี้ยประกันค่อนข้างมากระหว่างทารกแรกเกิดไปจนถึงอายุ 5 ขวบ กับเด็กที่อายุเกิน 5 ขวบไปแล้วซึ่งในแบบประกันบางแบบมีความแตกต่างกันเกือบเท่าตัว

ตัวอย่างเบี้ยประกันสุขภาพ Crystal Plan 2010 ของบริษัท บูพา ประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) แผน1 ค่าห้อง 2,000 บาท ความคุ้มครองสูงสุดต่อปี 2 แสนบาท (กรณีคนไข้ใน) กำหนดอัตราเบี้ยประกันสำหรับเด็กอายุ 15 วัน-5 ขวบ ไว้ประมาณ 7,700 บาทต่อปี แต่หากโตขึ้นมาจนอายุระหว่าง 6-10 ขวบเบี้ยประกันจะลดเหลือประมาณ 4,500 บาทเท่านั้น

แต่หากเพิ่มความคุ้มครองทั้งกรณีผู้ป่วยในแผน1 และผู้ป่วยนอกแบบ 1,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 30 ครั้งต่อปี อัตราเบี้ยประกันสำหรับเด็กอายุ15 วัน-5 ขวบ จะอยู่ที่ 1.7 หมื่นบาท แต่สำหรับเด็กอายุ 6-10 ขวบ จะเท่ากับ 1 หมื่นบาท หรือลดลงไป 7,000 บาท

พอลูกโตขึ้นมาอีกหน่อยเบี้ยประกันก็ราคาถูกลงไปอีกนิดเช่นกัน โดยเมื่ออายุ 11-15 ปี จะเหลือปีละ 8,500 บาท และ 7,200 บาท เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอายุ 16-20 ปี (แต่หลังจากนั้นเบี้ยประกันจะค่อยๆเพิ่มขึ้นอีกครั้งตามอายุที่มากขึ้น)

นอกจากอัตราเบี้ยประกันจะสูงแล้ว บริษัทประกันชีวิตยังจำกัดเพดานความคุ้มครองสำหรับเด็กเล็กเอาไว้ด้วย เช่น ห้ามซื้อค่าห้องเกิน 2,000-2,500 บาท สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ

ตัวอย่างเช่น แบบประกันภัยสำเร็จรูป 20 Pay Life Package ของบริษัท เอไอเอ ที่ให้ความคุ้มครองค่าห้องสูงสุด 2,200 บาท แต่หากเป็นเด็กอายุ 1 เดือน-5 ขวบ จะซื้อความคุ้มครองได้สูงสุดแค่ 1,600 บาทเท่านั้น

และอีกครั้งที่ต้องอ้างถึงกรมธรรม์ก้าวแรกของบริษัท ไทยประกันชีวิต เพราะยอมให้เด็กซื้อความคุ้มครองได้มากกว่าอัตราปกติ

เจ้าหน้าที่ของบริษัท ไทยประกันชีวิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ถ้าเป็นประกันแบบทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่กรมธรรม์ก้าวแรก จะสามารถซื้อประกันที่ให้ความคุ้มครองค่าห้องต่อวันได้ไม่เกิน 1,000 บาทเท่านั้น แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์ก้าวแรกจะสามารถซื้อได้สูงถึง3,500 บาท แต่ต้องไม่สูงเกินกว่าที่คุณแม่ซื้อไว้"

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ ประกันบางแบบก็ซื้อไม่ได้เช่น ความคุ้มครองผู้ป่วยนอกของบริษัทประกันชีวิตบางแห่งที่จะกำหนดเอาไว้ว่า เด็กที่ยังอายุไม่ถึง 4 ขวบ จะไม่สามารถซื้อประกันชนิดนี้ได้

นอกจากนี้ ไม่ใช่เฉพาะกรมธรรม์ก้าวแรกเท่านั้นที่คุณแม่จะต้องทำประกันนี้ก่อนถึงจะซื้อประกันให้ลูกได้ เพราะประกันภัยสุขภาพของบริษัทประกันหลายแห่งยังเขียนเงื่อนไขไว้อย่างชัดเจนว่า "เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่สามารถสมัครได้ โดยไม่มีผู้ปกครองร่วมกรมธรรม์" เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะซื้อประกันภัยสุขภาพให้ลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องซื้อประกันแบบนี้ไว้ด้วย

แต่ยังมีบริษัทประกันภัยบางแห่ง เช่น บริษัทไทยประกันสุขภาพ ที่อาศัยช่องว่างนี้ "ทำการตลาด" ด้วยการยอมให้เด็กซื้อประกันได้โดยลำพัง ไม่ต้องมีผู้ปกครองซื้อกรมธรรม์ร่วมให้ต้องเสียเบี้ยประกันแบบแพ็กคู่

ดูแลกันตั้งแต่เล็กจนโต

พอพูดถึงการทำประกันคนส่วนใหญ่ก็มักจะคุ้นเคยกับการทำประกันชีวิต โดยเฉพาะประกันสะสมทรัพย์ (ที่คนขายประกันมักจะบอกว่าเป็นการ "ออมเงิน") ที่จะซื้อเป็นกรมธรรม์หลัก จากนั้นค่อยไปซื้อประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติม

การซื้อประกันแบบนี้ก็น่าจะเหมาะกับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังหาวิธีการเก็บออมระยะยาวเพื่อเป็นทุนการศึกษาของลูกๆ เพราะนอกจากจะได้ออมเงินตามความตั้งใจเดิมแล้ว ยังสามารถเลือกซื้อประกันสุขภาพทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมได้

แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการความคุ้มครองสุขภาพให้ลูกๆ แต่มีการออมในรูปแบบอื่น ทำให้ไม่ต้องการออมผ่านประกันสะสมทรัพย์ ก็ต้องหันไปหาประกันแบบตลอดชีพที่ให้ความคุ้มครองไปจนถึงอายุ 90 ปี หรือ 99 ปี โดยมีระยะเวลาการจ่ายเบี้ยประกัน 20 ปี เพราะอัตราเบี้ยประกันหลักไม่แพงเมื่อเทียบกับประกันแบบสะสมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนประกันชีวิตหลายรายให้คำแนะนำตรงกันว่า กรมธรรม์หลักสำหรับเด็กเล็กๆควรจะเป็นกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาสั้นๆ ครบกำหนดเร็ว เช่น 10-20 ปี เพื่อให้ได้เงินก้อนสำหรับเป็นทุนการศึกษาในเวลาที่เหมาะเจาะพอดี

ขณะที่ประกันแบบตลอดชีพนั้นอาจจะยาวเกินไป และคนที่จะรับผลประโยชน์จากกรมธรรม์นี้จะไม่ใช่ลูก แต่จะเป็นหลาน เพราะประกันจะจ่ายเงินประกันให้เมื่อครบอายุ (ซึ่งอาจจะมีเงินคืนระหว่างทางไปด้วย) หรือจ่ายให้ผู้รับผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต

นอกจากนี้ การซื้อสัญญาเพิ่มเติมอย่างเช่นประกันสุขภาพ ไม่ใช่ว่าจะสามารถซื้อได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 90 ปี หรือ 99 ปี ตลอดระยะเวลาที่กรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง เพราะเราจะสามารถซื้อประกันสุขภาพได้เพียง 20 ปี หรือเท่ากับระยะเวลาการจ่ายเบี้ยประกันเท่านั้น

"ถ้าคุณพ่อคุณแม่ซื้อประกันแบบตลอดชีพคุ้มครอง 90 ปี จ่ายเบี้ย 20 ปี ให้ลูกตั้งแต่เขาอายุไม่ถึง 1 ขวบ ก็จะสามารถซื้อประกันสุขภาพได้จนเขาอายุครบ 20 ปี หลังจากนั้นก็ไม่สามารถซื้อพ่วงกับประกันหลักตัวนี้ได้อีก แต่ถ้าต้องการซื้อประกันสุขภาพต่อไปอีกก็ต้องทำประกันหลักตัวใหม่" ตัวแทนประกันรายหนึ่งกล่าว

แต่ข้อดีของการซื้อประกันชีวิต คือ คุณพ่อคุณแม่สามารถซื้อ "สัญญาผลประโยชน์ผู้ชำระเบี้ยประกันภัย" ที่จะให้ความคุ้มครองในกรณีที่ผู้ชำระเบี้ยเกิดเจ็บป่วย ได้รับอุบัติเหตุ หรือลอบทำร้ายจนทุพพลภาพหรือเสียชีวิต กรมธรรม์หลักของเด็กจะได้รับการยกเว้นเบี้ยประกัน โดยยังได้รับความคุ้มครองเช่นเดิม

คุ้มครองกันปีต่อปี

ถ้าไม่ชอบการผูกมัดต้องมาทำประกันหลักประกันรองให้วุ่นวาย อาจจะต้องไปเลือกทำประกันภัยสุขภาพ เพราะสามารถซื้อได้ทันที ต่ออายุกันปีต่อปี ปีไหนอยากซื้อก็ซื้อ ปีไหนไม่อยากซื้อก็ไม่ต้องซื้อ

เพียงแต่ต้องทำใจเอาไว้ล่วงหน้าว่า ในการต่อสัญญาแบบปีต่อปีลูกอาจจะต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงกว่าปกติได้ ถ้าปีก่อนใช้เคลมบ่อย หรือเป็นโรคบางอย่าง

แต่ถ้าคิดจะทำประกันสุขภาพให้ลูก ไม่ว่าจะเลือกแบบประกันชีวิตหรือประกันภัย อย่าถามว่า"คุ้มไหม" เพราะการทำประกันสุขภาพให้ลูกคงไม่อยากมีใครอยากใช้จนคุ้ม ขอเพียงแค่ได้เลือกแบบที่ดีที่สุด เหมาะกับครอบครัวเรามากที่สุด และมันก็จะคุ้มค่ามากๆ เมื่อต้องควักเงินก้อนโตจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เจ้าตัวน้อย

Thailand Web Stat