ภัยเงียบจากขยะ เมื่อใมโครพลาสติกสะสมภายในตัวเรา
ขยะพลาสติกคือสิ่งที่เราใช้งานและก่อให้เกิดขึ้นทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยมากเราไม่ได้สนนักว่าหลังจากทิ้งไปเกิดอะไรขึ้น แต่แท้จริงอันตรายจากขยะพลาสติกมีมากกว่าที่คิด เมื่อผลการวิจัยล่าสุดพบว่าอนุภาคที่แตกออกเป็นไมโครพลาสติก กำลังสะสมในร่างกายของคนเรา
ข้อมูลจากปี 2561 ระบุว่าการดำรงชีวิตในแต่ละวันของคนเราผลิตขยะโดยเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อวัน แนวโน้มการสร้างขยะของคนเรามีแต่จะเพิ่มขึ้นภายใต้การระบาดของโควิด โดยเฉพาะขยะติดเชื้อที่ถือเป็นหนึ่งในขยะที่มีแนวทางจัดการยากเย็น ปัญหาจัดการขยะจึงยิ่งกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ภายในสังคม
ในบรรดาขยะมากมายที่เกิดขึ้น หนึ่งในประเภทที่เป็นปัญหาที่สุดคือ ขยะพลาสติก ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิดจำนวนขยะพลาสติกจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ ในประเทศไทยจากเดิมเคยมีขยะพลาสติกอยู่ราว 2 ล้านตันต่อปี แต่ภายหลังการระบาดจำนวนขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 45% ทำให้โรดแมพในการลดขยะพลาสติกเป็นอันต้องชะงัก
อาจเป็นเรื่องช่วยไม่ได้จากสถานการณ์ระบาดในปัจจุบัน แต่การปล่อยขยะพลาสติกเข้าสู่สิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เรื่องดี เมื่อไม่มีวิธีจัดการถูกต้องเหมาะสม สิ่งที่ตามมาคือมลพิษทำให้น้ำเน่าเสีย การเข้าไปทำลายระบบนิเวศเมื่อมีสัตว์เผลอกินเข้าไป รวมถึงรบกวนวิถีของสัตว์ตามธรรมาชาติทั้งหลาย แต่อันที่จริงมันมีอะไรมากกว่านั้น
วันนี้จึงมาจอแนะนำภัยเงียบจากขยะพลาสติกกับสิ่งที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก กันเสียหน่อย
ไมโครพลาสติกคืออะไร? มาจากไหน?
ไมโครพลาสติก(Microplastics) จากคำจำกัดความของสำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ ประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรลงไป ด้วยขนาดที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่เข้าไปปนเปื้อนสร้างความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง
ไมโครพลาสติกจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Primary Microplastics เป็นไมโครพลาสติกถูกผลิตมาเพื่อใช้งานโดยตรง ส่วนมากมักอยู่ในหมวดหมู่เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น เม็ดบีดส์ในโฟมล้างหน้า, เครื่องสำอาง, เม็ดสครับ ไปจนถึงยาสีฟัน เป็นกลุ่มที่มีโอกาสปนเปื้อนในท้องทะเลสูงจากช่องทางระบายน้ำเสีย
อีกชนิดคือ Secondary Microplastics เกิดจากการผุกร่อนเสื่อมสลายของพลาสติกชิ้นใหญ่สู่ไมโครพลาสติก สามารถเกิดได้จากทั้งกระบวนการย่อยสลายทางกล, ทางเคมี, ทางชีวภาพ หรือแม้แต่แสงอาทิตย์ ทำให้สารแต่มเติมภายในวัสดุพลาสติกชิ้นนั้นๆ หลุดออก ปนเปื้อนไปในผืนดิน แหล่งน้ำ และอากาศ
นี่คือภัยเงียบที่บางคนอาจไม่เคยตระหนักรู้เพราะไม่สามารถมองเห็นผลลัพธ์ได้ด้วยตาเปล่า ผู้คนต่างชินตาและรู้สึกสะเทือนใจต่อภาพชายหาดเต็มไปด้วยซากขยะ สัตว์ทะเลเสียชีวิตจากการกินพลาสติก หรือเศษขยะพลาสติกในท้องสัตว์ทะเล แต่อันที่จริงนั่นเทียบไม่ได้กับการปนเปื้อนไมโครพลาสติกที่เกิดขึ้นทั่วโลก
มากไปกว่านั้นคือแม้แต่ พลาสติกชีวภาพ บรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่สร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนพลาสติกทั่วไป มีคุณสมบัติโดดเด่นในการย่อยสลายได้เองเพราะสังเคราะห์ขึ้นจากสารอินทรีย์ ก็ยังแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยสาเหตุมาจากในน้ำไม่มีแบคทีเรียใช้ในการย่อยสลาย จนกลายเป็นขยะพลาสติกอีกหนึ่งชนิดในที่สุด
การแทรกซึมของไมโครพลาสติกต่อระบบนิเวศ
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นมากภายหลังการแพร่ระบาด อัตราการใช้งานพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งยิ่งพุ่งสูง กลายเป็นปัญหาต่อระบบจัดการขยะอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมื่อไม่สามารถรองรับได้ขยะเหล่านี้จึงไหลลงสู่แหล่งน้ำ ปนเปื้อนแม่น้ำ ลำธาร จนถึงท้องทะเล สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง
กลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากไมโครพลาสติกคือปะการัง จากการสำรวจปะการังแต่ละตัวมีไมโครพลาสติกแทรกซึมอยู่นับพัน ถึงแม้จะยังไม่มีผลการวิจัยเปิดเผยออกมาแน่ชัด แต่การเข้าไปนเปื้อนของไมโครพลาสติกนี้ อาจเป็นอีกตัวแปรที่เป็นมลพิษทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์นานาชนิดในทะเล
ลำดับต่อมาคือสัตว์ขนาดเล็กใต้ทะเลเองที่เริ่มได้รับผลกระทบ เช่น โครพีพอด สัตว์จำพวกกุ้ง ที่ตรวจพบไมโครพลาสติกภายในร่างกายเป็นจำนวนมาก จนทำให้การเจริญเติบโตและระบบสืบพันธุ์ของสัตว์กลุ่มนี้เกิดการหยุดชะงัก ขยับขึ้นมาอีกหน่อยคือปลาชนิดต่างๆ เมื่อได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายจะกลายเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เสี่ยงต่อการล้มป่วยไปจนติดเชื้อ เห็นได้ชัดว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลโดยตรง
นอกจากนี้เมื่อมันไหลลงสู่ทะเลจนเกิดการปนเปื้อนแล้วครั้งหนึ่ง เป็นไปได้สูงว่ามันจะถูกพัดกระจัดกระจายไปไกลตามกระแสน้ำ นี่เป็นเรื่องที่ได้รับการยืนยันจากทีมวิจัยที่เดินทางไปถึงขั้วโลก พวกเขาพบว่าแม้แต่บริเวณที่ไม่มีมนุษย์อาศัยก็ยังมีไมโครพลาสติกอยู่ใต้ผืนน้ำ เป็นการพัดพาไปจากชายฝั่งและชุมชนขนาดใหญ่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก
ร้ายไปกว่านั้นคือการขจัดไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนเป็นเรื่องยากจนเกือบเป็นไปไม่ได้ ด้วยขนาดของมันใกล้เคียงฝุ่นละออง มีขนาดเล็กมากเกินกว่าจะตรวจสอบหรือเก็บกู้กลับมาได้หมดทั้งยังกระจายเป็นวงกว้าง เมื่อเกิดการแพร่กระจายขึ้นมาครั้งหนึ่ง มันจะซึมลึกเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศและส่งผลกระทบในระยะยาว
เมื่อไมโครพลาสติกเริ่มสะสมในร่างกายคนเรา
ผลงานวิจัยชิ้นใหม่ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International นักวิจัยพบว่ามีไมโครพลาสติกแฝงอยู่ในเลือด คิดเป็นจำนวนกว่า 80% ของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด ยืนยันว่าปัจจุบันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากมือเรากำลังย้อนกลับมาเล่นงานมนุษย์เสียเอง
อันที่จริงงานวิจัยก่อนหน้านี้จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย พบว่า ผู้ตนทั่วโลกต่างได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย เป็นปริมาณกว่า 250 กรัมต่อปี จากการคำนวณคร่าวๆ คาดว่าภายในกระเพาะอาหารคนเราอาจมีไมโครพลาสติกมากกว่า 10,000 ชิ้นเลยทีเดียว
ไมโครพลาสติกเหล่านี้ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหาร น้ำดื่ม หรือแม้แต่อากาศที่เราหายใจ ตั้งแต่การย่อยสลายจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกนานาชนิด ทั้งขวดน้ำ ถุงบรรจุอาหาร ฟิล์มห่ออาหาร อาหารและน้ำดื่มที่เรากินในแต่ละมื้อ น้ำที่เราดื่ม อากาศหายใจในแต่ละวัน รวมถึงบางครั้งยังสามารถแทรกซึมผ่านผนังเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้อีกด้วย
แม้เราจะสามารถขับไมโครพลาสติกจากร่างกายผ่านช่องทางอุจาระ แต่เห็นได้ชัดว่าปริมาณการรับเข้ามาในแต่ละวันมากกว่าการขับออกหลายเท่า เป็นสาเหตุให้มีการตรวจพบการปนเปื้อนภายในเลือด จึงอาจเกิดการเข้าไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ แบบที่เกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลจำนวนมาก
ในปัจจุบันอาจยังไม่มีผลการวิจัยยืนยันถึงอันตรายจากไมโครพลาสติก แต่เมื่อประเมินจากผลกระทบที่เกิดกับสัตว์ทะเล เป็นไปได้ว่าไมโครพลาสติกอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ เข้าไปอุดตันตามเส้นเลือดกลายเป็นปัญหาในระบบหัวใจ หรือเข้าไปสะสมภายในร่างกายจนนำไปสู่โรคมะเร็งได้เช่นกัน
แน่นอนผลข้างเคียงรุนแรงดังกลาวยังคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เมื่อคำนึงจากขนาดร่างกายปริมาณไมโครพลาสติก จำเป็นต้องได้รับในปริมาณมากและเป็นเวลานานพอจึงอาจจะส่งผล แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนขึ้นกับเวลา เมื่อเราต่างรู้ดีว่าขยะพลาสติกในปัจจุบันนอกจากไม่ลดยังมีแต่จะเพิ่มขึ้น พร้อมกลายเป็นไมโครพลาสติกกลับมาหาเราได้ทุกเมื่อ
ดังที่บอกไปว่าคิดจะขจัดไมโครพลาสติกออกจากระบบนิเวศปัจจุบันอาจเป็นเรื่องสายเกิน เราอาจต้องยอมรับว่าระบบนิเวศคงไม่เหมือนเดิม อีกทั้งเราอาจยังไม่สามารถลดอัตราการใช้งานพลาสติกในเร็ววัน เมื่อโรคระบาดร้ายแรงยังคงวนเวียนในชีวิตประจำวัน พลาสติกยังเป็นบรรจุภัณฑ์และวัสดุที่เหมาะสมที่สุดภายใต้สถานการณ์เช่นนี้
คงได้แต่ภาวนาให้โรคระบาดผ่านพ้นไปในเร็ววันเพื่อให้ทุกประเทศกลับมาดำเนินนโยบายลดใช้งานพลาสติกได้อีกครั้ง
ที่มา
http://otop.dss.go.th/index.php/en/knowledge/interesting-articles/273-microplastics
https://www.bangkokbiznews.com/social/840862