posttoday

Tech war จากชิปหายสู่ชิปแพง และสงครามเซมิคอนดักเตอร์

11 สิงหาคม 2565

การเดินทางเยือนไต้หวันของ Nancy Pelosi ประธานสภาสหรัฐฯ ถือเป็นการสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่สำหรับตลาดเซมิคอนดักเตอร์ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางเทคโนโลยีระหว่างจีน-สหรัฐฯที่ยังคุกรุ่นจนปัจจุบัน

การเดินทางเยือนไต้หวันของ Nancy Pelosi ประธานสภาสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่การเมืองระดับสูง สร้างแรงสั่นสะเทือนระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ทั้งต่อความสัมพันธ์ของจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ กลายเป็นแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญที่ทั่วโลกต้องจับตา โดยเฉพาะมาตรการตอบโต้ของจีนทั้งด้านการทหารและเศรษฐกิจ

 

          หลายท่านอาจสงสัยเหตุใดมหาอำนาจจึงสนใจและให้ความสำคัญต่อไต้หวันเป็นพิเศษ ทั้งที่นี่เป็นประเทศเกาะอยู่ห่างจากชาติตะวันตกไปไกลลิบ สาเหตุมาจากชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานาชนิดอย่าง เซมิคอนดักเตอร์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งไต้หวันถือครองเทคโนโลยีการผลิตและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก

 

          วันนี้เราจึงมาย้อนรอยกันสักนิดว่าเหตุใด ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันจึงมีความสำคัญ ความขัดแย้งทางเทคโนโลยี ที่การเดินทางเยือนของนางเพโลซีเป็นเพียงส่วนหนึ่งบนกระดานนี้

Tech war จากชิปหายสู่ชิปแพง และสงครามเซมิคอนดักเตอร์

การสั่นคลอนของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

 

          ย้อนกลับไปในสมัยประธานาธิบดี โดนัลล์ ทรัมป์ หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ถูกนำมาใช้งานเพื่อลดการเสียดุลการค้าคือ การขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีน รวมถึงการแบนบริษัทอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของจีนไม่ให้เข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตสินค้าโทรคมนาคม Huawei ที่นอกจากถูกกีดกันทางการค้า ยังมีการจับกุมผู้บริหารบริษัทในข้อหาฉ้อโกง

 

          อีกหนึ่งปมปัญหาคือการตัดขาดกันทางเทคโนโลยี รัฐบาลสหรัฐมีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมจากจีนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง โดยอ้างว่าอุปกรณ์ที่ผลิตจากจีนถูกระบุว่ามีการส่งข้อมูลกลับไปหาบริษัทแม่และนำไปมอบให้รัฐบาลจีน มีการแบนบริษัทเทคโนโลยีจากจีนมากมาย ทั้งบริษัทซุปเปอร์คอมพิวเตอร์และควอนตัมคอมพิวเตอร์ รวมถึงสั่งให้ Intel บริษัทผลิตชิปในประเทศ ระงับการขายชิประดับสูงให้แก่รัฐบาลจีนอีกด้วย

 

          ด้วยเหตุนี้จีนเองจึงเริ่มมีมาตรการตอบโต้เรื่องนี้เช่นกัน เดิมจีนก็ไม่ยอมรับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติหลายแห่งเข้ามาทำกิจการ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียหรือเสิร์ชเอนจิ้นทั้งหลาย แต่ล่าสุดมีการสั่งให้หน่วยงานรัฐยุติการใช้งานคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ และซอฟต์แวร์ทั้งหมดของต่างชาติภายใน 2024 เช่นกัน

 

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ความเชื่อมโยงเทคโนโลยีทั้งสองชาติขาดสะบั้น โดยเฉพาะในส่วนเซมิคอนดักเตอร์ สหรัฐฯไม่สามารถใช้โรงผลิตชิปในประเทศจีนได้อีก เช่นเดียวกับจีนที่ไม่สามารถเข้าถึงชิปรุ่นใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีของสหรัฐฯได้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายประสบปัญหาติดขัดในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จนเกิดสถานการณ์สินค้าขาดตลาด

Tech war จากชิปหายสู่ชิปแพง และสงครามเซมิคอนดักเตอร์

เมื่อประเทศเกาะอันห่างไกล กลายเป็นหัวใจเทคโนโลยีโลก

 

          ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งที่เลือกตัดอีกฝ่ายออกจากกระบวนการผลิต ฝ่ายที่ได้ประโยชน์คือประเทศผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อื่นเริ่มเข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะไต้หวันที่รับหน้าที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ส่งออก เป็นชิ้นส่วนของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก และครอบครองเทคโนโลยีการผลิตล้ำหน้าที่สุดในโลก ไต้หวันจึงเริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้น

 

          อัตราการผลิตที่ลดลงจากคู่ขัดแย้งทั้งสองทำให้ภาระมาตกอยู่กับบริษัทอื่นมากขึ้น เดิมไต้หวันรับหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังเติบโตต่อเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีเกือบทั้งหมด ชิปที่ผลิตจากบริษัท TSMC ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีสูงสุดในโลกปัจจุบัน เป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก

 

          แต่หนึ่งในสินค้าสำคัญที่สุดในยุคปัจจุบันกลับเกิดการขาดตลาดตั้งแต่ปี 2020 ด้วยการระบาดของโควิด-19

 

          ด้วยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทุกประเทศจึงจำเป็นต้องจำกัดการรวมตัวและลดชั่วโมงการทำงาน บริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายสำคัญเองก็ได้รับผล เมื่อบุคลากรไม่สามารถทำงานตามสายพาน การผลิตสินค้าจึงติดขัดชะลอตัว ส่งผลให้จำนวนสินค้าในท้องตลาดลดลง

 

          ซ้ำร้ายด้วยการระบาดของโรคทำให้ทุกคนต้องกักตัว ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสำหรับใช้ทำงานและงานอดิเรกจึงพุ่งสูง สินค้าในกลุ่มไอทีและเกมส์ถีบตัวสูงสวนทางความสามารถในการผลิต เป็นเหตุให้ความต้องการใช้งานเซมิคอนดักเตอร์สูงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาการขาดตลาดให้หนักยิ่งกว่าเก่า

 

          และเมื่อไม่มีผู้เล่นรายอื่นในตลาด บริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประสิทธิภาพสูงมีเพียงไต้หวัน ด้วยเกาหลีใต้เองก็เน้นการผลิตเพื่อใช้งานสินค้าของตัวเอง ผลที่ตามมาคือการขาดตลาดครั้งร้ายแรง ทำให้กำลังการผลิตสินค้าหลายชนิด ทั้งคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ จนถึงเครื่องเกมดิ่งฮวบ ไม่สามารถทำยอดการวางจำหนายได้ตามเป้า

 

          นั่นยิ่งทำให้ความสำคัญของไต้หวันยิ่งเพิ่มขึ้น ทุกคนต่างทราบดีว่าโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์คือขุมทรัพย์ ประเทศที่ได้ครอบครองหรือเข้าถึงเทคโนโลยีจะล้ำหน้าอย่างก้าวกระโดด แซงหน้าคู่แข่งและทั่วโลกที่ประสบปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในพริบตา โดยเฉพาะจีนที่ต้องการขยายตลาดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และนั่นคือสิ่งที่สหรัฐฯต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว

 

          เป็นเหตุให้ประเทศเกาะอันห่างไกลอยู่ในความสนใจของบรรดาชาติตะวันตกไปจนทั่วทุกมุมโลก

Tech war จากชิปหายสู่ชิปแพง และสงครามเซมิคอนดักเตอร์

 

          อีกหนึ่งผลกระทบที่ไม่มีใครคาดคิดของสงคราม จากชิปหายสู่ชิปแพง

 

          ปัญหาการขาดตลาดของเซมิคอนดักเตอร์เริ่มชะลอตัว เมื่อสถานการณ์ระบาดโควิดเริ่มดีขึ้น กำลังการผลิตของโรงงานกลับสู่ภาวะปกติ ปัญหาเริ่มได้รับการคลี่คลาย จนโรงงานการผลิตส่วนมากสามารถป้อนชิปเข้าสู่สายพานการผลิตให้กลับมาทำงานได้ดังเดิม

 

          แต่ปัญหาใหม่กลับปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อความขัดแย้งระหว่างประเทศลุกลามกลายเป็นสงครามยูเครน-รัสเซีย

 

          ฟังดูไม่น่าเกี่ยวข้องเมื่อสงครามครั้งนี้อยู่ในทวีปยุโรป แต่โรงงานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ส่วนมากตั้งอยู่ในเอเชีย ผลกระทบจึงไม่น่ามาก แต่ส่วนที่เป็นปัญหาคือวัตถุดิบ เมื่อรัสเซียและยูเครนต่างเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบรายสำคัญที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

 

          วัตถุดิบชนิดแรกคือ ก๊าซนีออน ถูกในการใช้เลเซอร์แกะแกงวงจรขนาดจิ๋วให้ออกมาเป็นลวดลาย ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแผงวงจรของเซมิคอนดักเตอร์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด ถูกใช้งานมากถึง 90% ภายในขั้นตอนการผลิต และผู้ส่งออกก๊าซนีออนมากที่สุดคือยูเครน โดยครองส่วนแบ่งการตลาดไว้มากถึง 70% เลยทีเดียว

 

          อีกหนึ่งวัตถุดิบที่มีความจำเป็นไม่แพ้กันคือ พาลาเดียม โลหะจำเป็นในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นแร่หายากที่ค้นพบและส่งออกเพียงไม่กี่ประเทศ หนึ่งในนั้นคือ รัสเซีย ที่มีการส่งออกพาลาเดียมเป็นจำนวนกว่า 43% ในตลาดโลก

 

          สองประเทศคู่ขัดแย้งจากสงครามในปัจจุบันในฝั่งยูเครนที่ถูกบุกนั้นแน่นอน ความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมไม่อาจฟื้นฟูในเร็ววัน ส่วนรัสเซียแม้ไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง แต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจก็ส่งผล ทำให้การส่งออกพาลาเดียมไม่เป็นไปตามเดิม และเป็นปัญหาทำให้เกิดการขาดตลาดเช่นกัน

 

          นอกจากนี้ปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯเองยังคงส่งผล ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ยินยอมให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากคู่ขัดแย้งเข้าสู่ประเทศ ผลที่ตามมาคือทำให้โรงงานผลิตชิปของทั้งสองฝ่ายไม่เพียงพอ เมื่อรวมกับการขาดแคลนวัตถุดิบจึงไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าคลี่คลาย นำไปสู่การทยอยปรับราคาขึ้นของเซมิคอนดักเตอร์

 

          ส่วนนี้ได้รับการยืนยันจากสามบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายสำคัญในตลาด ตั้งแต่ TSMC ที่จะเริ่มขึ้นราคาชิปราว 5 – 9% ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป, Samsung ที่จะเพิ่มราคาอีก 15 – 20% รวมถึง Intel ที่มีแผนปรับราคาเพิ่ม 10 – 20% เช่นกัน เป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้งานทยอยปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

          ดังนั้นถึงแม้ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาดจะยังไม่เกิดขึ้นซ้ำรอย แต่ก็เริ่มเกิดปัญหาใหม่ให้เราต้องปรับตัวเพิ่มเช่นกัน

Tech war จากชิปหายสู่ชิปแพง และสงครามเซมิคอนดักเตอร์

 

          การเยือนของเพโลซี ความขัดแย้งไม่รู้จบ และอนาคตของเซมิคอนดักเตอร์

 

          เราได้ทราบกันไปแล้วว่าไต้หวันทวีความสำคัญ ทำให้สหรัฐฯไม่สามารถปล่อยไต้หวันตกภายใต้อิทธิพลของจีน ขณะเดียวกันความขัดแย้งทางเทคโนโลยีของจีน-สหรัฐฯก็ทวีความรุนแรง ภายหลังการออกคำสั่งจำกัดผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต่อหน่วยงานราชการ ถือเป็นมหาอำนาจแห่งเทคโนโลยีที่ทั้งสองฝ่ายเข้าห้ำหั่น

 

          แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองชาติรวมถึงทุกประเทศในโลกเริ่มรู้ตัว ภายหลังสถานการณ์ขาดแคลนชิปครั้งใหญ่คือ พวกเขาไม่สามารถฝากความมั่นคงด้านเซมิคอนดักเตอร์ไว้กับประเทศอื่น โดยเฉพาะดินแดนที่มีความั่นคงน้อยอย่างไต้หวันไว้ได้อีก หลายประเทศจึงเริ่มมีแนวคิดดึงโรงงานเซมิคอนดักเตอร์เข้ามาในประเทศ

 

          เริ่มจากขาใหญ่อย่างสหรัฐที่เล่นยาแรง ออกกฎหมาย CHIPS Act เพื่อพัฒนาการผลิตชิปในประเทศให้มากขึ้น เป็นการตั้งงบประมาณ 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(1.9 ล้านล้านบาท) นำไปอุดหนุนผู้ผลิตชิปให้เข้ามาวิจัยและตั้งโรงงานผลิภายในประเทศเพื่อดึงส่วนแบ่งการผลิตกลับมา โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าเงินที่ให้ต้องนำไปลงทุนในการผลิตชิป และห้ามตั้งโรงงานผลิตชิปในประเทศที่กำหนด เช่น จีน เป็นระยะเวลา 10 ปี

 

          ปัจจุบันผู้สนใจในการลงทุนก้อนนี้มีเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่บริษัทในประเทศอย่าง Apple, Microsoft, Dell, HP ไปจนบริษัทต่างแดนอย่าง Samsung และ SK Hynix ของเกาหลีใต้ เป็นการสกัดดาวรุ่งความพยายามพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของจีนในทางหนึ่ง

 

          และการเดินทางเยือนไต้หวันของ Nancy Pelosi เอง นอกจากจุดหมายทางการเมืองจากความขัดแย้งต่อจีนแล้ว ยังมีการพบปะกับประธานของบริษัท TSMC เพื่อหารือในเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ สอดคล้องกับการมาถึงของ CHIPS Act ที่อาจจูงใจให้บริษัทในไต้หวันเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้

 

          ทางจีนเองก็ไม่น้อยหน้า บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำในประเทศอย่าง SMIC หลังสะดุดจากสงครามการค้า ทำให้ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีและสิทธิบัตรจากทางสหรัฐฯได้ ปัจจุบันเริ่มมีการลงทุนร่วมกับทางรัฐบาลเป็นมูลค่ากว่า 3.65 พันล้านเหรียญ(ราว 1.3 แสนล้านบาท) ในการสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ขึ้นมาเช่นกัน

 

          ทางฝั่งของประเทศอื่น ญี่ปุ่นดึง TSMC ให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในเมืองคุมาโมโตะโดยตั้งเป้าจะเริ่มดำเนินการในปี 2025 และจะพัฒนาการผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เช่นเดียวกับ ฝรั่งเศส และ เยอรมนี ก็ทำการเจรจากับ Intel เพื่อสนับสนุนทางภาษีและร่วมลงทุนในการจัดสร้างโรงงานผลิตชิปออกมาเช่นกัน

 

 

          แน่นอนการทยอยจัดตั้งโรงงานในนานาประเทศไม่ได้เป็นจุดจบ มันอาจทำให้ปัญหาชิปขาดแคลนที่เคยเกิดเบาบางลง แต่อีกทางก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีครั้งสำคัญ ที่ครั้งนี้ไม่ได้มีผู้เข้าร่วมแค่มหาอำนาจแต่กำลังจะเป็นการแข่งขันที่มาจากทั่วทุกมุมโลก

 

          เราไม่อาจทราบว่าใครจะเป็นผู้ชนะการแข่งขันแต่นี่จะช่วยให้เทคโนโลยีของโลกเรารุดหน้าเกินกว่าใครจะคิดถึง

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.techtalkthai.com/us-may-ban-chinese-telecom-devices/

 

          https://notebookspec.com/web/289338-cpu-%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1-intel-%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B4

 

          https://www.blognone.com/node/110488

 

          https://www.blognone.com/node/126010

 

          https://www.voathai.com/a/huawei-cfo-canada-court-us-extradition/5797449.html

 

          https://droidsans.com/china-force-govenment-replace-foreign-pc-with-local/

 

          https://www.blognone.com/node/129527

 

          https://www.blognone.com/node/129653

 

          https://next.nationtv.tv/innovation/1269

 

          https://www.thansettakij.com/world/535072

 

          https://next.nationtv.tv/model-business-era/1160