Volkswagen-กับอากาศยานไฟฟ้าไร้คนขับ
การพัฒนารถยนต์และคมนาคมขนส่งกำลังพุ่งขึ้นก้าวกระโดด จากการเติบโตของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง ทำให้หลายบริษัทต่างทยอยพัฒนารถยนต์ล้ำสมัยขึ้นมากมาย โดยเฉพาะรถยนต์บินได้ซึ่งอาจไม่ใช่ของแปลกใหม่อีกต่อไป
สำหรับสายการบินช่วงเวลานับจากนี้ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ ด้วยความไม่แน่นอนทั้งจากสถานการณ์ระบาดโควิดทั่วโลกจนต้องประสบภาวะขาดทุน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีมาสู่ EV หรือพลังงานไฟฟ้า พลิกโฉมวงการและรูปแบบอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง กลายเป็นปัญหาน่าหนักใจที่ยังแก้ไม่ตกจนวันนี้
ในทางกลับกันเทคโนโลยีการบินเริ่มถูกปรับสัดส่วนย่อขนาดลงมาให้เล็กลง สวนทางกับการดำเนินนโยบายของธุรกิจสายการบินแบบเดิม อากาศยานเริ่มถูกปรับให้เข้าสู่การใช้งานส่วนบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อพิสูจน์ของเรื่องนี้เห็นได้จากเทคโนโลยีรถยนต์บินได้ซึ่งกำลังก้าวหน้าขึ้นทุกวัน
นำไปสู่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี eVTOL ที่ทั่วโลกต่างเร่งพัฒนาและกำลังทยอยเปิดตัวออกมาในปัจจุบัน
eVTOL คืออะไร?
ในยุคใหม่เราต่างคุ้นชินกับรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย ผลักดันเครื่องยนต์ชนิดใหม่เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV จึงเป็นชื่อที่ผู้คนเริ่มคุ้นหูกันมากขึ้น และเริ่มมีการขยับขยายไปสู่ยานพาหนะประเภทอื่นมากขึ้น
นี่จึงเป็นที่มาของ eVTOL หรือ electric vertical take-off and landing คือยานพาหนะที่บินขึ้น-ลงได้ในแนวดิ่ง มีรูปแบบคล้ายการขึ้นบินและลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ จุดแตกต่างประการสำคัญคือการทำงานของเครื่องยนต์ชนิดนี้อาศัยพลังงานไฟฟ้าเป็นแรงขับเคลื่อน ตามรูปแบบการพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นใหม่ในปัจจุบัน
ข้อดีของการบินขึ้น-ลงในแนวดิ่งคือการใช้พื้นที่ในการลงจอดหรือทำการขึ้นบินน้อย อีกทั้งการขึ้นบินแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องอาศัยระยะทางออกตัวเพื่อทำการบินหรือรันเวย์ เช่นเดียวกับการลงจอดซึ่งสามารถทำได้ทันทีแม้มีพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก จึงถือว่ามีความคล่องตัวและสะดวกในการใช้งาน
ปัจจุบัน eVTOL เริ่มแพร่หลายในยานพาหนะหลายชนิดโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ เมื่อหลายบริษัทเริ่มมองเห็นลู่ทางพัฒนาในการให้รถยนต์สามารถใช้ในการบินได้ จนเริ่มมีการสร้างรถยนต์ให้กลายเป็นอากาศยานส่วนบุคคลเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานยิ่งขึ้น
แต่ทาง Volkswagen กลับล้ำหน้าไปกว่านั้น นอกจากจะเป็นยานพาหนะบินได้พลังไฟฟ้า ยังสามารถทำงานโดยระบบไร้คนขับอีกด้วย
V.MO อนาคตแห่งวงการยานยนต์ อากาศยานบินได้ไร้คนขับ
ภายใต้แนวคิดในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน จากเครื่องยนต์สันดาปสู่พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบภายในปี 2035 Volkswagen ทำการวิจัยภายใต้โครงการ Vertical Mobility ในปี 2020 จนเริ่มขยายเส้นทางการจราจรจากพื้นดินไปสู่น่านฟ้า ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์โดรนต้นแบบ V.MO ที่มีศักยภาพในการบรรทุกผู้โดยสารกลางอากาศ
รุ่นต้นแบบดังกล่าวมีชื่อเล่นว่า Flying Tiger มีความยาว 11.2 เมตร กว้าง 35 เมตร สามารถบรรทุกผู้โดยสารพร้อมสัมภาระได้มากถึง 4 คน มีระยะทำการ 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง โดยอาศัยใบพัดขนาดเล็ก 8 ตัวในการยกเครื่องในแนวตั้ง และ 2 ใบพัดขนาดใหญ่ในการเคลื่อนที่ไปด้านหน้า
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ได้รับการออกแบบและพูดถึงเป็นอย่างมากคือ คุณสมบัติในการขับเคลื่อนโดยไม่ต้องอาศัยคนขับ แบบเดียวกับที่วงการรถยนต์อัตโนมัติกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ต่างกันตรงคราวนี้พวกเขาจะไม่ได้ใช้งานแค่เพียงกับรถยนต์บนภาคพื้นดิน แต่จะถูกนำไปใช้กับอากาศยานถือเป็นความท้าทายไปอีกขั้น
จุดหมายในการออกแบบยานยนต์ชนิดนี้ในปัจจุบันคือ การนำไปใช้งานในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อความสะดวกรวดเร็วและประสิทธิภาพในการเดินทาง แม้ปัจจุบันจะเป็นโครงการที่อยู่ใน่ช่วงนำร่อง เครื่องที่นำมาจัดแสงเองก็เป็นเพียงรุ่นต้นแบบ แต่ก็มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและจะทำการเก็บข้อมูลจากการทดสอบการบินในช่วงปี 2023
โดยทางบริษัทคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเข้าสู่อุตสาหกรรมสู่แนวทางธุรกิจแบบใหม่ ที่เราสามารถเรียกใช้งานยานพาหนะบินได้แบบเดียวกับรถรับจ้างทั่วไป นอกจากสอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ยังนำเราเข้าสู่การคมนาคมสัญจรแห่งยุคใหม่ที่จะขยายการจราจรเข้าสู่น่านฟ้าอีกด้วย
อนาคตของยานพาหนะระบบ eVTOL กับแท็กซี่บินได้ในอนาคต
อันที่จริงบริษัทที่พัฒนาระบบ eVTOL รวมถึงยานพาหนะบินได้ทั้งหลายไม่ได้มีเพียง Volkswagen เพียงแห่งเดียว หลายบริษัทเริ่มพัฒนายานพาหนะเพื่อใช้ในการบินเช่นกัน บางบริษัทดัดแปลงรถให้มีคุณสมบัติในการบิน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานแก่ผู้ขับขี่ให้สามารถเดินทางได้คล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ในสหรัฐฯมีรถยนต์บินได้บางชนิดที่ใช้ระบบการบินและได้รับการอนุมัติจาก องค์การบริหารการบินแห่งชาติ(FAA) ของสหรัฐฯแล้ว เช่น Terrafugia Transition รถบินได้คันแรกที่ผ่านการอนุมัติในเดือนกุมภาพันธ์ 2022, Switchblade ที่อาศัยเวลาพัฒนากว่า 14 ปีก็ผ่านการอนุมัติเช่นกัน รวมถึงฝั่งยุโรปที่มี PAL-V Liberty ซึ่งได้รับอนุมัติให้ทำการบินได้ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป
น่าเสียดายที่โครงการส่วนมากแม้ได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้งานจริงได้ก็ตาม แต่เกือบทั้งหมดยังอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์ไฮบริด จำเป็นต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงคอยเสริมเพื่อรักษาระดับแรงขับเคลื่อนให้มากพอในการบิน ถือเป็นข้อจำกัดที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเพิ่ม เมื่อช่วงเวลาสิ้นสุดการใช้เครื่องยนต์สันดาปกำลังงวดเข้ามาทุกที
แต่ข้อจำกัดประการสำคัญของรถบินได้หรือยานพาหนะในกลุ่มนี้คือ ผู้ใช้งานรถยนต์ชนิดนี้นอกจากใบขับขี่ยังต้องได้รับ ใบอนุญาตการบิน แบบเดียวกับที่ใช้ในการขับเครื่องบินจึงสามารถใช้งานได้ กลายเป็นข้อจำกัดที่อาจทำให้รถยนต์กลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงคนหมู่มาก โดยเฉพาะผู้ไม่สันทัดการขับยานพาหนะมากนัก จากความยุ่งยากในการใช้งาน
แต่ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นจากแนวทางการพัฒนาของ V.MO เมื่อพวกเขาตั้งใจสร้างยานพาหนะเพื่อการขนส่งมีความใกล้เคียงกับแท็กซี่ ลดข้อจำกัดและปัญหายุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้งาน ช่วยให้คนสามารถข้ามาสัมผัสประสบการณ์หรือใช้งานยานยนต์ชนิดนี้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้แนวทางของยานพาหนะไร้คนขับเองก็กำลังเติบโตในหลายประเทศทั้งภายในจีนและสหรัฐฯ อีกทั้งด้วยรูปแบบการเดินทางของอากาศยานประเภทนี้ ความจุในการรองรับผู้โดยสารถือเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อสามารถตัดคนขับออกจากระบบได้ จะช่วยเพิ่มที่ว่างและรองรับการใช้งานได้มากขึ้นอีกด้วย
แนวคิดนี้จึงถือเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจและกำลังได้รับการพัฒนาจนอาจจะเติบโตมากขึ้นในอนาคต
จริงอยู่การใช้งานรถยนต์บินได้อาจไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน กับเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการและความเข้าใจในการคมนาคมชนิดนี้ อาจต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ปรับตัวยาวนาน ทั้งกฎหมายควบคุม ข้อบังคับ ไปจนเส้นทางการจราจร มีปัญหาอีกมากมายให้แก้ไขรับมือ การใช้งานรถยนต์หรือแท็กซี่บินได้อย่างแพร่หลายจึงอาจไม่ใช่ในเร็วๆ นี้
แต่ต่อให้ต้องใช้เวลาไปบ้างเมื่อดูจากทิศทางการพัฒนาในปัจจุบัน รถยนต์บินได้คงเป็นเรื่องพบได้ทั่วไปในสักวัน
ที่มา
https://terrafugia.com/transition/
https://evtol.com/news/volkswagen-joins-the-evtol-race-with-new-flying-tiger-aircraft/
https://www.samsonsky.com/models/
https://www.pal-v.com/en/explore-pal-v