สตีฟ จ็อบส์อาจเหลือเวลาไม่ถึง5ปี!!
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาการป่วยของจ็อบส์รุนแรงกว่าที่คิด โดยมีการคาดการณ์ว่าเขาป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนชนิดหายาก
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาการป่วยของจ็อบส์รุนแรงกว่าที่คิด โดยมีการคาดการณ์ว่าเขาป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนชนิดหายาก
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
เชื่อว่าผู้คนทั่วโลกคงรู้สึกใจหายเลยทีเดียว เมื่อผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พ่อมดไอที” อย่าง สตีฟ จ็อบส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งคณะเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง (ซีอีโอ) ของบริษัท แอปเปิล บริษัทไอทีสัญชาติอเมริกันชื่อดัง เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เป็นเพราะเมื่อนึกถึง “แอปเปิล” ใครๆ ก็จะนึกถึง สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและสุดยอดอัจฉริยะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตลอด 14 ปีของแอปเปิล โดยจ็อบส์นั้นได้ร่วมก่อตั้งแอปเปิลเมื่อปี 2519 และต่อมาก็ตัดสินใจลาออกเนื่องจากเกิดความขัดแย้งกับคณะกรรมการบริหารของบริษัท
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2540 บริษัทก็ประสบวิกฤตอย่างหนักจนเกือบต้องล้มละลาย จ็อบส์จึงกลับมาร่วมงานกับแอปเปิลอีกครั้ง พร้อมทั้งนั่งเก้าอี้ซีอีโอตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา โดยสามารถฟื้นฟูแอปเปิลให้กลับมาแข็งแกร่งด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างไอพอด ไอโฟน และไอแพด สินค้ายอดนิยมของบริษัทซึ่งได้พลิกโฉมวงการเทคโนโลยีอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ข่าวคราวการลาออกครั้งนี้จะสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก อีกทั้งยังสะเทือนไปถึงตลาดหุ้น โดยหุ้นของแอปเปิลนั้นร่วงลงถึง 7% ทันทีที่บริษัทประกาศข่าวดังกล่าว ในจดหมายลาออกที่จ็อบส์ยื่นให้กับบริษัทนั้น เจ้าตัวระบุว่า “ผมพูดมาตลอดว่าถ้าวันใดก็ตามผมไม่สามารถทำงานได้ตามหน้าที่และความคาดหวังในฐานะซีอีโอของแอปเปิลแล้วละก็ ผมจะบอกให้พวกท่านทราบเป็นคนแรก น่าเสียดายที่วันนั้นได้มาถึงแล้ว”
แม้จ็อบส์จะไม่ได้ชี้แจงสาเหตุของการลาออกครั้งนี้ แต่ทุกคนก็ทราบดีว่าอดีตซีอีโอแอปเปิลนั้นมีอาการป่วยที่รุมเร้ามานาน โดยจ็อบส์นั้นเคยเปิดเผยกับพนักงานบริษัทเมื่อปี 2547 ว่ากำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งตับอ่อน
อย่างไรก็ตาม จ็อบส์ก็ไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของตัวเองเลย และก็มักจะหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามของนักข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้อยู่เสมอ โดยไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดว่าอาการป่วยนั้นรุนแรงเพียงใด และจะสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่
หลายฝ่ายจึงมองว่าการลาออกครั้งนี้ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าอาการของจ็อบส์นั้นกำลังทรุดหนักเข้าขั้นวิกฤต และไม่อาจรักษาให้หายได้
แม้จะเป็นบุคคลสำคัญของแอปเปิล แต่ทางบริษัทก็เปิดเผยว่า จ็อบส์นั้นไม่ได้เป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนแอปเปิลในช่วงปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด เนื่องจากเจ้าตัวนั้นได้ลาป่วยไปตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลาป่วยครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2546 แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาการป่วยของจ็อบส์รุนแรงกว่าที่หลายคนคิด โดยมีการคาดการณ์กันว่าพ่อมดไอทีนั้นป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนชนิดหายาก ซึ่งเกิดจากเนื้องอกประสาทต่อมไร้ท่อ (Neuroendocrine Tumor) บริเวณเซลล์ตับอ่อน
รอดนีย์ ฮิกส์ อาจารย์ทางด้านการแพทย์และรังสีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า เนื้องอกชนิดประสาทต่อมไร้ท่อนั้นเป็นชนิดที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยในทุก 1 แสนคน ก็จะพบผู้ป่วยดังกล่าวไม่เกิน 5 คน “แพทย์ทั่วโลกกำลังศึกษาเนื้องอกชนิดนี้อยู่” ฮิกส์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วเนื้องอกประสาทต่อมไร้ท่อก็ไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป เนื่องจากมีการเติบโตที่ช้า ดังนั้นหากสามารถตรวจเจอได้เร็วและเข้ารับการผ่าตัดในช่วงที่เนื้องอกยังมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยก็มีโอกาสสูงที่จะหายขาด
แต่เนื้องอกชนิดนี้จะอันตรายทันทีหากแพร่กระจายไปสู่อวัยวะส่วนอื่น โดยผู้เชี่ยวชาญนั้นคาดว่าในกรณีของจ็อบส์เนื้องอกได้กระจายไปยังตับอ่อน จนส่งผลให้เจ้าตัวต้องเข้ารับการปลูกถ่ายตับเมื่อปี 2552 เพื่อยับยั้งไม่ให้เนื้องอกลุกลาม
ด้าน เดวิด เมทส์ อาจารย์ทางโรคระบบทางเดินอาหารจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในสหรัฐ เปิดเผยว่า ไม่รู้สึกแปลกใจเลยที่จ็อบส์ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นซีอีโอของแอปเปิล เนื่องจากอาการและผลข้างเคียงต่างๆ จากโรคมะเร็งและจากการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะนั้น สามารถสร้างความเจ็บปวดเกินกว่าที่ใครคนหนึ่งจะรับมือและทนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาชีพที่ท้าทายอย่างจ็อบส์
ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยหลายคนก็สามารถกลับมาทำงานได้ภายหลังเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่จ็อบส์ก็ไม่ได้มีอาชีพการงานเหมือนคนไข้ทั่วไป โดยอดีตซีอีโอแอปเปิลนั้นต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลาเพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระของการเป็นหน้าเป็นตาของบริษัทอีกด้วย
“เขาต้องแบกสังขารอันอ่อนแอไปเปิดตัวไอแพดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งตัวเขาและบริษัทรู้ดีว่า เขาเป็นเพียงผู้เดียวที่จะสามารถเปิดตัวสินค้าของแอปเปิลได้อย่างดีเยี่ยม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและตลาดได้” นักวิเคราะห์รายหนึ่ง กล่าว
ขณะนี้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังถกเถียงกันอยู่ว่า การผ่าตัดนั้นเป็นวิธีการรักษาเนื้องอกประสาทต่อมไร้ท่อที่ดีที่สุดจริงหรือ โดยส่วนตัวนั้น เมทส์เชื่อว่าการผ่าตัดไม่ใช่หนทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ เมทส์ ได้ทำการวิจัยในเรื่องนี้เมื่อปี 2548 และค้นพบว่าผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ (ที่เป็นมะเร็ง) เพียง 60% เท่านั้นที่จะมีชีวิตอยู่ได้เกิน 5 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างยิ่ง
“การปลูกถ่ายอวัยวะในผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกชนิดนี้ เป็นเพียงกระบวนการที่ยังอยู่ในขั้นทดลองและเต็มไปด้วยอาการแทรกซ้อน” ฮิกส์ กล่าว โดยในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถคิดค้นแนวทางการรักษาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยนั้นหายขาดจากโรคนี้ได้
ทางด้าน ไซมอน โล ผู้อำนวยการโรคตับอ่อนและน้ำดี ศูนย์การแพทย์ซีดาร์ส-ไซนายในนครลอสแองเจลิสของสหรัฐ แสดงความเห็นว่า การปลูกถ่ายอวัยวะของจ็อบส์อาจไม่ได้ผล โดยเป็นไปได้ว่ามะเร็งนั้นได้ลุกลามมากขึ้นภายหลังอดีตผู้บริหารแอปเปิลเข้ารับการผ่าตัด
นอกจากนี้ โล ยังพบว่าผู้ป่วย 3 ใน 4 มักกลับไปเป็นมะเร็งอีกภายใน 2-5 ปี โดยพบมะเร็งในตับและส่วนอื่นของร่างกาย เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันสำหรับผู้รับการปลูกถ่ายตับจะทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านทานมะเร็งและการติดเชื้อต่างๆ ได้ ดังนั้นจ็อบส์ก็อาจกำลังเผชิญทั้งปัญหาจากการปลูกถ่ายตับและปัญหาจากโรคมะเร็ง
“มะเร็งจะทำให้เขามีอาการเจ็บปวดและเหนื่อยมากขึ้น ขณะเดียวกันเนื้องอกก็จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนในปริมาณมาก ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารและระบบอื่นๆ ในร่างกายขัดข้อง” โล กล่าว
จอห์น ฟัง ประธานสถาบันโรคระบบทางเดินอาหารที่โรงพยาบาลคลีฟแลนด์ คลินิก ในรัฐโอไฮโอของสหรัฐ เปิดเผยว่า เนื้องอกและการรักษาชนิดนี้อาจส่งผลให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยนั้นลดลงได้ ซึ่งในระยะหลังๆ หลายคนก็เริ่มสังเกตว่าร่างกายของจ็อบส์นั้นผอมลงอย่างเห็นได้ชัด
“ใครที่เคยเห็นภาพจ็อบส์ก่อนป่วยก็คงจะตกใจไม่น้อยว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไปเยอะขนาดนี้” ฟัง กล่าว โดยมองว่าจ็อบส์ยังไม่สามารถเพิ่มน้ำหนักตัวให้เท่ากับน้ำหนักที่มีก่อนจะเข้ารับการผ่าตัด
“แม้คุณจะมีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ แต่ถ้าร่างกายคุณผอมและมีพลังงานไม่เพียงพอ คุณก็จะไม่มีแรงในการทำงานอย่างแน่นอน”
เมื่อการผ่าตัดไม่เป็นผล และแพทย์ได้ออกมาเตือนว่าจ็อบส์นั้นอาจเหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 ปี ก็ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะมาถึงทางตันแล้ว หลายคนก็อดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงอนาคตของจ็อบส์ โดยแฟนๆ ของจ็อบส์ถึงกับตั้งคำถามว่าไม่มีหนทางใดที่จะรักษาได้เลยหรือ อีกทั้งอนาคตของแอปเปิลจะเป็นเช่นใดหากไร้เงาของจ็อบส์ผู้นี้
แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่าที่ปลายอุโมงค์ย่อมมีแสงสว่างอยู่เสมอ โดยจ็อบส์นั้นยังมีทางเลือกในการรักษาอีกมากมาย ซึ่งแม้จะเป็นแนวทางการรักษาที่ยังใหม่ แต่ก็คุ้มค่ากับการลองอย่างแน่นอน โดยเมื่อไม่นานมานี้องค์การอาหารและยาสหรัฐได้อนุมัติยาชนิดใหม่ที่สามารถใช้ในการรักษาเนื้องอกชนิดนี้ได้ คือ ยาโนวาร์ติส เอจี อาฟินิเตอร์ และยาพีเอฟอี อีกทั้งแพทย์ในยุโรปก็เริ่มหันมาใช้รังสีชนิดใหม่ๆ ในการฉายรังสีผู้ป่วย
เรียกได้ว่าในยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ ความคิดและแนวทางการรักษาใหม่ๆ ก็จะผุดขึ้นมาทุกวี่ทุกวัน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทุกคนไม่ควรรู้สึกท้อแท้และหมดหวัง เพราะขนาดตัวจ็อบส์เองยังเลือกที่จะเดินหน้าสู้ต่อไป โดยเจ้าตัวนั้นประกาศว่าแม้จะไม่ได้เป็นซีอีโอของแอปเปิล แต่ก็ขอคงนั่งเก้าอี้ประธานบริษัทแทน
เชื่อว่าสาวกแอปเปิลทั่วโลกจะต้องเอาใจช่วยจ็อบส์อย่างแน่นอน และทุกคนก็หวังว่าแรงใจทั้งหมดนี้จะบันดาลให้เกิดปาฏิหาริย์เพื่อให้ตำนานอย่างจ็อบส์นั้นได้อยู่เคียงคู่แอปเปิลไปอีกยาวนาน