อินโดนีเซีย...สะเทือนไม่หยุด เสี่ยงสูงแผ่นดินไหวใหญ่ซ้ำ
แผ่นดินอิเหนาเขย่าไม่หยุดนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 8.6 ริกเตอร์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
แผ่นดินอิเหนาเขย่าไม่หยุดนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 8.6 ริกเตอร์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดเกิดการสั่นสะเทือนไล่ไปตั้งแต่เกาะสุมาตรา จนถึงหมู่เกาะวานูอาตู และเกาะสุลาเวสีในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. เมื่อเวลา 16.46 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 09.46 น. ตามเวลาที่กรีนวิช ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นขนาด 5.7 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะสุมาตรา โดยศูนย์กลางอยู่ลึกลงไป 10 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสิเมียวเล นอกชายฝั่งด้านตะวันตกบริเวณตอนกลางของเกาะสุมาตรา อยู่ไม่ไกลกับจุดเกิดการสั่นไหว 8.6 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การสั่นสะเทือนในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแต่อย่างใด และไม่สามารถรู้สึกได้ในจังหวัดอาเจะห์
ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.17 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 02.17 น. ตามเวลากรีนวิช ก็เกิดการสั่นไหวขึ้นขนาดรุนแรง 5.8 ริกเตอร์ ขึ้นบริเวณเกาะสุลาเวสี ทางตอนกลางของอินโดนีเซีย
ศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีความลึกลงไป 10 กิโลเมตร ห่างจากเมืองเคนดารีไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 169 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยา และภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียยืนยันว่าไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น
ขณะที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน ในวันที่ 15 เม.ย. ก็เกิดการสั่นสะเทือนขึ้นหลายระลอกในอินโดนีเซีย โดยที่บริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะสุมาตรา ได้เกิดการสั่นสะเทือนขึ้นรุนแรง 6.4 ริกเตอร์ แต่ไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้น
อารีฟ นูราฮิม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยา และภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียระบุว่า ศูนย์กลางการสั่นไหวอยู่กลางทะเล แต่ไม่มีการเตือนภัยสึนามิเนื่องจากเป็นการสั่นสะเทือนในระดับปานกลางที่ต่ำกว่า 7.0 ริกเตอร์
ทั้งนี้ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งดังกล่าว อยู่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดอาเจะห์ ใกล้กับจุดที่เกิดการสั่นไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ขนาด 8.6 ริกเตอร์เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ก็เกิดการสั่นสะเทือนขึ้นขนาดรุนแรง 5.9 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะชวา บริเวณช่องแคบซุนดา ที่ความลึกประมาณ 49 กิโลเมตร แต่ไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้น และไม่มีการเตือนภัยสึนามิแต่อย่างใด
นอกจากนั้น ที่นอกชายฝั่งหมู่เกาะวานูอาตู ทางตะวันออกของอินโดนีเซียก็เกิดการสั่นสะเทือนขึ้น 6.5 ริกเตอร์ แต่ไม่มีการเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิแต่อย่างใด
การสั่นสะเทือนที่หมู่เกาะวานูอาตูนี้มีความลึกเพียง 8 กิโลเมตรเท่านั้น และห่างจากกรุงพอร์ต วิลลา เมืองหลวงของวานูอาตู ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 150 กิโลเมตร ทั้งนี้ เกาะวานูอาตู ตั้งอยู่ในบริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกหรือ วงแหวนไฟ เช่นเดียวกันกับอินโดนีเซีย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้ง
เคอร์รี เซียห์ ผู้อำนวยการศูนย์สังเกตการณ์ธรณีวิทยาของสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ขนาด 8.6 ริกเตอร์ ได้ทำให้เกิดแรงตึงเครียดบริเวณรอยเลื่อนเมนตาไว ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรามากขึ้น ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงมากขึ้น
เซียห์ ได้ทำวิจัยเรื่องแผ่นดินไหวในอาเจะห์มานับตั้งแต่แผ่นดินไหวใหญ่ 9.1 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งอาเจะห์ในปี 2004 และได้ก่อตั้งศูนย์สังเกตการณ์ที่เกาะเมนตาไว ในปี 2008 กล่าวด้วยว่า แผ่นดินไหว 8.6 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 11 เม.ย.นั้นถือว่าเป็นการสั่นสะเทือนในแนวขวาง หรือ “สไตร์ค สลิป” ที่รุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่เคยบันทึกมา และเกิดขึ้นได้ยาก และทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกที่มีขนาดรุนแรงมากตามมาด้วยขนาด 8.2 ริกเตอร์ ซึ่งถือว่าไม่บ่อยครั้งนัก
นอกจากนั้น แผ่นดินไหวครั้งดังกล่าว ยังถือว่ามีความไม่ปกติอย่างยิ่งเนื่องจากจุดเกิดอยู่ห่างจากโซนรอยเลื่อนไปทางตะวันตกที่ค่อนข้างไกลทีเดียว และแม้ว่าการสั่นสะเทือนครั้งดังกล่าวจะไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่ก็ได้ทำให้เกิดแรงตึงเครียดสะสมขึ้นในรอยเลื่อนรอบๆ จังหวัดอาเจะห์
ทั้งนี้ เมื่อปี 2010 เซียห์ และทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ข้อมูลเปิดเผยว่า แผ่นดินไหว 9.1 ริกเตอร์ เมื่อปี 2004 ซึ่งทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิกวาดชายฝั่งหลายประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียนั้น ได้ปลดปล่อยพลังงานจากแรงตึงเครียดสะสมออกมาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการสั่นสะเทือนครั้งรุนแรงขึ้นอีกได้
นอกจากนั้น เมื่อปี 2008 เซียห์ ได้ตีพิมพ์ข้อมูลระบุว่า บริเวณรอยเลื่อนที่เกาะเมนตาไว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของรอยเลื่อนใหญ่นั้น ก็กำลังเกิดแรงตึงเครียดสะสมมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากกว่านี้ในอีกไม่กี่ปีถัดจากนั้น
“ผมค่อนข้างมั่นใจว่าภายในไม่กี่สิบปีจากนี้ จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นที่เมนตาไวแน่นอน” เซียห์กล่าว และคาดว่าจะเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อปี 2007 ได้เกิดการสั่นสะเทือนขนาด 8.4 ริกเตอร์ ขึ้นที่เมนตาไว ซึ่งเป็นการปลดปล่อยแรงตึงเครียดสะสมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 1833 ก็เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ในบริเวณดังกล่าว และในปี 1979 ก็เกิดการสั่นสะเทือนขึ้น 8.4 ริกเตอร์เช่นกัน