ส่องคุกนอร์เวย์ หรูหราเทียบชั้นโรงแรม เน้นแก้ไขคนหลงผิด ไม่ได้มุ่งลงโทษ
คำรับสารภาพในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลของ แอนเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก มือปืนผู้ก่อเหตุกราดยิงประชาชนชาวนอร์เวย์ 77 คน
โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์
คำรับสารภาพในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลของ แอนเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก มือปืนผู้ก่อเหตุกราดยิงประชาชนชาวนอร์เวย์ 77 คน ในกรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ เมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้คนทั่วโลกไม่น้อย เมื่อเจ้าตัวกล่าวอย่างไม่แยแสว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นเป็นความตั้งใจและเตรียมการล่วงหน้ามาก่อนแล้ว แถมยังระบุอีกว่าจริงๆ แล้วต้องการที่จะฆ่าคนให้มากกว่านี้อีก
มือปืนหนุ่มตาสีฟ้า ผมสีทอง เข้าขั้นแบบฉบับหนุ่มสแกนดิเนเวียรายนี้ ย้ำด้วยว่าถ้าหากมีโอกาสก็จะไม่พลาดลงมืออีกแน่นอนในอนาต พร้อมกับท้าทายศาลให้ตัดสินประหารชีวิต หรือไม่ก็ตัดสินด้วยการปล่อยตัวเสียอีกด้วย
ฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจหรือสงสัยเลยว่า เบรวิก จะต้องได้รับบทลงโทษจากผลการกระทำที่ได้ก่อไว้เมื่อช่วงกลางปีที่แล้วอย่างแน่นอน เว้นเสียแต่ศาลตัดสินให้ เบรวิกเป็นผู้มีความวิกลจริตสติไม่สมประกอบไปเสียก่อน
คาดการณ์กันว่าบทลงโทษที่ศาลจะตัดสินออกมาลงโทษนั้น น่าจะเป็นการจำคุกที่ 21 ปี เพราะนอร์เวย์ไม่มีบทลงโทษประหารชีวิต หรือแม้แต่โทษการจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งโทษจำคุก 21 ปีดังกล่าว ถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดแล้วตามกฎหมายของนอร์เวย์
แม้ว่าหลายคนอาจมองว่าบทลงโทษที่คาดว่าจะตัดสินออกมาจากศาลนั้น อาจจะถูกมองว่าเป็นบทลงโทษที่อ่อนเกินไป และดูไม่สาสมกับความผิดที่ เบรวิก ได้กระทำลงไปเสียเลย ซึ่งในบางประเทศหากเกิดความผิดเช่นนี้คงจะถูกโทษประหารอย่างไม่ต้องสงสัยไปเรียบร้อยแล้ว แต่หากได้รู้ว่าเรือนจำในนอร์เวย์ที่จะใช้ขัง เบรวิกมีสภาพและหน้าตาเป็นเช่นไร อาจจะทำให้หลายคนต้องถึงกับอึ้งและงงและอาจจะเข้าใจประเทศนี้ยิ่งขึ้น
เป็นการตกรางวัลให้ เบรวิก หรือเป็นการลงโทษกันแน่ เพราะเรือนจำในประเทศดังกล่าวนั้นมีการดูแลนักโทษเป็นอย่างดี และสภาพของเรือนจำเองก็มีสภาพที่ดูแล้วมีความใกล้เคียงกับโรงแรมหรูบางแห่งเลยทีเดียว
เรือนจำ “ฮาลเดน ฟรังเซล” หรือเรียกสั้นๆ ว่า ฮาลเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ เรือนจำของนอร์เวย์ สามารถสะท้อนคำพูดดังกล่าวในข้างต้นได้เป็นอย่างดี เรือนจำฮาลเดนนี้ตั้งอยู่ในกรุงออสโล ถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยงบก่อสร้างสูงถึง 1,500 ล้านเหรียญคอเนอร์ (ราว 7,812 ล้านบาท) และถือเป็นเรือนจำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 75 เอเคอร์ แต่จุนักโทษได้ประมาณ 200 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งสื่อต่างประเทศคาดหมายกันว่า หาก เบรวิก ถูกตัดสินจำคุก เรือนจำแห่งนี้น่าจะเป็นที่อยู่สำหรับเจ้าตัวทันที
ภายในห้องขังนักโทษแต่ละห้องนั้น ต้องบอกได้คำเดียวว่า “หรูหรามาก” จนถึงขนาดที่นิตยสารไทม์ให้คำชมว่า เป็นเหมือนห้องแสดงสินค้าตัวอย่างตามร้านขายเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำมากกว่าจะเป็นห้องขังนักโทษ เพราะภายในห้องขังนั้นถูกประดับประดาตกแต่งไปด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์อย่างดี แถมยังมีห้องอาบน้ำในตัวให้อีกด้วย นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่ตระเตรียมไว้ให้พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นขนาดเล็ก โทรทัศน์จอแบน
อีกทั้งหน้าต่างของห้องขังก็จะไม่มีการทำลูกกรงมาติดไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักโทษที่นี่ได้ไว้ชมวิวทิวทัศน์และรับแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้าและเย็น
หากจะกล่าวให้เข้าใจง่าย คือ หรูหรากว่าหอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบางแห่งด้วยซ้ำ แต่จะต่างกันก็ตรงที่หน้าห้องจะมีที่ล็อกประตูจากภายนอกเท่านั้น
ขณะที่ภายนอกห้องขัง ทางเรือนจำได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้แก่นักโทษในเรือนจำแห่งนี้ไว้อีกเช่นกัน อาทิ โซนทำอาหาร ที่เต็มไปด้วยเครื่องครัวที่ทำจากสเตนเลสสตีลชั้นดี และห้องนั่งเล่นที่มีเก้าอี้โซฟาและโต๊ะดื่มกาแฟ โดยจะมีห้องในลักษณะดังกล่าวในทุกๆ ช่วง 12-15 ห้องขัง
สำหรับนักโทษที่รู้สึกเบื่อหรือเหงาในระหว่างถูกจองจำที่นี่ ทางเรือนจำก็มีกิจกรรมให้เลือกทำในยามว่าง อาทิ การออกกำลังกาย สนามกีฬาที่มีให้เลือกเล่นหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสนามวิ่งจ๊อกกิ้ง ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล หรือแม้กระทั่งสถานที่ปีนหน้าผาจำลอง
อีกทั้งก็ยังมีห้องสตูดิโอไว้สำหรับเล่นดนตรีหรือแต่งเพลง และห้องสมุดให้หาความรู้หรือติดตามข่าวสารบ้านเมืองจากภายนอกได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและลดความตึงเครียดจากการถูกจองจำ ทางเรือนจำยังได้จ้าง “ด๊อกส์” ศิลปินแนวสตรีตอาร์ต ซึ่งเป็นศิลปะแนวเสียดสีสังคมชื่อดังของนอร์เวย์ ให้ช่วยวาดภาพจิตรกรรมบนฝาผนังของกำแพงในเรือนจำเป็นเงินกว่า 1 ล้านปอนส์ (ราว 49 ล้านบาท) อีกด้วย
สิ่งที่พิเศษของเรือนจำแห่งนี้มีให้แก่นักโทษยังไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ เพราะทางเรือนจำยังได้จัดเตรียมบริการบ้านพักที่มี 2 ห้องนอน เพื่อเตรียมไว้รองรับหากบรรดาญาติพี่น้องของนักโทษจะเดินทางมาเยี่ยมที่เรือนจำแห่งนี้ และต้องการพักค้างคืนที่เรือนจำแห่งนี้อีกด้วย
ขณะที่เหล่าผู้คุมในเรือนจำแห่งนี้ก็ให้ความเป็นกันเองแก่นักโทษ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปพูดคุยทำความคุ้นเคยต่อเหล่านักโทษที่มาใหม่ รวมถึงการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับบรรดานักโทษทั่วๆ ไป และไม่เพียงเท่านั้น ผู้คุมกับนักโทษเหล่านี้ยังมีความสนิทสนมกันจนถึงขั้นที่สามารถรับประทานอาหารและเล่นกีฬาร่วมกันได้
ทั้งนี้ แม้เรือนจำนอร์เวย์จะให้การดูแลเอาใจใส่และปรนนิบัติต่อนักโทษเยี่ยงแขกที่มาพักในโรงแรมเป็นอย่างดี แต่ทางผู้ออกแบบตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลได้อธิบายว่า ทุกอย่างที่ทำไปนั้นมีเหตุผลในตัวทั้งสิ้น
ฮาน เฮนริก ฮอยลุน หนึ่งในสมาชิกทีมสถาปนิกผู้ออกแบบเรือนจำฮาลเดน กล่าวว่า การออกแบบเรือนจำให้ออกมาดูดี เลิศหรูอลังการ มีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้นักโทษลดพฤติกรรมความก้าวร้าวลง และที่สำคัญคือการช่วยทำให้นักโทษเหล่านี้ไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีกเมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว
“สิ่งสำคัญที่สุดในการทำเช่นนี้ คือ การทำให้นักโทษเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าตัวของพวกเขากำลังอยู่กับโลกภายนอก และทำให้เกิดความรู้สึกว่ากำลังอยู่ในเรือนจำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ฮอยลุน กล่าว
ทั้งนี้ เห็นได้จากวัสดุที่ใช้ก่อสร้างตัวอาคารตึกหรือกำแพงที่รายล้อมรอบเขตนอกเรือนจำ จะไม่ได้ทำมาจากวัสดุจำพวกคอนกรีต แต่ปลูกสร้างจากหิน เหล็กที่เคลือบสังกะสีเป็นพิเศษ และไม้สนแทน ตลอดจนถึงตึกอาคารในเรือนจำที่ให้ดูราวกับว่าเป็นบ้านไม้ในรีสอร์ต ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้นักโทษที่อยู่ไม่เกิดความรู้สึกว่าอยู่ในคุก อีกทั้งตามมุมตามเหลี่ยมต่างๆ ก็จะพยายามจะทำให้มีความโค้งมนมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความอึดอัดจนเกินไป
อาเร ฮอยดาว ผู้อำนวยการเรือนจำฮาลเดน อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่านอร์เวย์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างมาก ดังนั้นการลงโทษของนอร์เวย์เน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดให้นักโทษได้กลับใจเป็นคนดี ผ่านทางการศึกษาและการฝึกสอนวิชาชีพ มากกว่ามุ่งเน้นการลงโทษที่รุนแรง รวมถึงการสร้างคนให้สามารถกลับมามีที่ยืนอยู่ในสังคมได้ใหม่อีกครั้ง
“เมื่อเหล่าบรรดานักโทษมาที่นี่ใหม่ๆ พวกเขามักจะมาด้วยพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และแสดงพฤติกรรมแย่ๆ ออกมา แต่เราก็จะช่วยเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเขา ทำให้เขารู้สึกเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ และสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา เพื่อที่เวลาเขาออกไปจากที่นี่แล้ว เขาจะเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ฮอยดาว กล่าว
คำกล่าวของ ฮอยดาว นั้น เห็นได้จากการวางนโยบายในเรือนจำที่กำหนดไม่ให้ผู้คุมในเรือนจำพกพาอาวุธปืนไว้ติดตัว เนื่องจากเชื่อว่าการมีอาวุธในมือจะเพิ่มโอกาสการใช้กำลังและความรุนแรงโดยไม่จำเป็นให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้คุมกว่าครึ่งในเรือนจำก็ล้วนเป็นผู้หญิงทั้งสิ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของนักโทษในเรือนจำลงได้
ฮอยดาว ยังได้อ้างถึงระบบการดูแลนักโทษในเรือนจำแห่งนี้ที่น่าทึ่งไว้อีกว่า ที่ผ่านมานับตั้งแต่เปิดใช้เรือนจำแห่งนี้มาได้ 2 ปีกว่า ยังไม่เคยพบว่ามีนักโทษคนใดพยายามหนีจากเรือนจำแห่งนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
และคำกล่าวเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกินจริงเลย เมื่อพบสถิติที่น่าทึ่งอีกชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า นอร์เวย์มีผู้ที่ต้องกลับมาเข้าคุกอีกครั้งหลังจากพ้นโทษออกไปแล้วเพียงแค่ 20% เท่านั้น ขณะที่อังกฤษและสหรัฐกลับมีอัตราการกระทำผิดซ้ำสูงถึง 50-60% ของจำนวนนักโทษที่พ้นโทษไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้นอร์เวย์สามารถใช้ระบบดูแลนักโทษได้ง่ายเช่นนี้ ก็เป็นเพราะว่านอร์เวย์มีสถิติการก่ออาชญากรรมน้อยมาก โดยทั้งประเทศมีนักโทษอยู่เพียงแค่ 3,300 คน ซึ่งหากเทียบกันออกมาต่อประชากรในประเทศจำนวนทุกๆ 1 แสนคนแล้ว นอร์เวย์จะมีนักโทษประมาณ 69 คน ขณะที่สหรัฐมีนักโทษอยู่ราว 2.3 ล้านคน และหากคิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากร 1 แสนคนแล้วจะมีนักโทษประมาณ 753 คน
แม้ว่ามาตรฐานในเรือนจำของนอร์เวย์ อาจจะทำให้หลายๆ คนรู้สึกอิจฉาต่อความสะดวกสบายที่นักโทษได้รับ แต่เชื่อสนิทใจว่านักโทษชาวนอร์เวย์ก็คงไม่ได้มีความสุขกับสิ่งเหล่านี้
เพราะความสุขและสะดวกสบายเหล่านี้ เทียบค่ากับอิสรภาพที่ขาดหายไปจากการถูกจองจำมิได้แม้แต่น้อย