posttoday

ทำไมต้องไปเรียนเมืองนอก (จบ)

09 มิถุนายน 2556

ข้อน่าสังเกตคือ ราวปี ค.ศ. 2000 บรรดาเด็กที่เดินทางไปศึกษายังต่างแดนเริ่มปรากฏให้เห็นว่าเป็นการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมากขึ้น

ข้อน่าสังเกตคือ ราวปี ค.ศ. 2000 บรรดาเด็กที่เดินทางไปศึกษายังต่างแดนเริ่มปรากฏให้เห็นว่าเป็นการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมากขึ้น แตกต่างจากช่วงก่อนที่เน้นศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก คนกลุ่มนี้โดยมากมักหลีกเลี่ยงการสอบเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง ในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งมีผลการเรียนธรรมดา ครอบครัวพอมีเงินสำหรับการส่งลูกเรียนยังต่างแดน และมักเป็นกลุ่มคนที่รอหางานหลังจากสำเร็จการศึกษา

มองอย่างนี้แล้ว เส้นทางการไปศึกษาต่อน่าจะไม่สดใสและเป็นการลงทุนที่อาจไม่คุ้มค่า แต่ถ้าดูจากตัวเลขนักศึกษาจีนในต่างแดนกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม และมีแนวโน้มว่าจะเป็นกระแสนักเรียนนอกระลอกที่ 4 นับแต่มีการสถาปนาประเทศเป็นต้นมา ลักษณะเด่นของเด็กนอกชุดนี้มีด้วยกันหลักๆ 2 ประการคือ “มีปริมาณมาก” และ “มีอายุน้อย” โดยมากมักเป็นระดับเยาวชน ประเทศที่เลือกศึกษาก็ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา สิงคโปร์ นักศึกษาต่างชาติชาวจีนในปี ค.ศ. 2012 เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2011 มากถึงร้อยละ 21.8 คิดเป็นร้อยละ 14 ของนักศึกษาต่างชาติทั่วโลก เด็กที่เดินทางไปศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษายังประเทศอเมริกาเพิ่มจาก 5 ปีที่แล้วมากถึง 100 เท่าทีเดียว

ตัวเลขล่าสุดของบรรดาพ่อแม่ที่มีอันจะกินกว่าร้อยละ 80 ปรารถนาจะส่งบุตรไปเรียนยังต่างแดน ร้อยละ 90 ของเศรษฐีพันล้านมีโครงการให้ลูกไปเรียนเมืองนอก ถือว่ามีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 1 ของโลกในขณะนี้ และมีแนวโน้มว่าเด็กเหล่านี้จะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เดิมทีคนส่วนใหญ่มักเลือกไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก แต่ผลการสำรวจล่าสุดชี้ให้เห็นว่า เด็กในวัยมัธยมศึกษามีความคิดที่จะไปศึกษาต่อมากขึ้น ทั้งนี้ เด็กยุคใหม่ที่เป็นลูกโทนมักเกิดในครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงเพียงพอที่จะส่งบุตรไปเรียนยังต่างแดนได้ ดังเห็นได้จากจำนวนนักเรียนต่างชาติระดับมัธยมศึกษาของจีนที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของโลก อาทิ อเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น

เหตุผลของการตัดสินใจส่งลูกไปเรียนยังต่างแดนประกอบขึ้นจากหลายปัจจัย กล่าวอย่างง่ายๆ ว่า “เด็กจีนยุคใหม่รู้สึกเหนื่อยล้าในวัยเรียนอย่างมาก” ชีวิตการเรียนของเด็กจีนเน้นหนักทางวิชาการ และมักพ่วงท้ายด้วยการเรียนเสริมด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถพิเศษไว้ใช้ในยามลงสนามแข่งขันหางาน อีกอย่างรูปแบบการเรียนก็มักให้ความสำคัญกับอาจารย์เป็นหลัก ไม่ค่อยให้อิสระทางความคิดเท่าใดนัก ว่ากันว่าคำพูดของอาจารย์ในโรงเรียนเปรียบเหมือน “ราชโองการ” หากมีคำสั่งให้นักเรียนทำอะไร ก็มักยากที่จะขัดขืนและแตกแถว แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการเรียนการสอนในประเทศตะวันตกที่ให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาค สามารถแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งได้ด้วยการใช้เหตุผล

ทั้งยังมีในเรื่องของระบบการสอบระดับอุดมศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านสิทธิของนักเรียนในการเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำตามเมืองใหญ่ นี่ยังไม่รวมถึงสภาพอากาศที่ปกคลุมไปด้วยมลพิษและความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ยังเป็นปัญหาคุกคามสวัสดิภาพชาวจีนอยู่ในขณะนี้

ผู้ปกครองหลายคนที่เตรียมส่งลูกไปศึกษาต่อแสดงทัศนะต่อการตัดสินใจไว้ว่า “พวกเขาไม่ได้หวังว่าลูกจะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างแดน ขอเพียงสามารถเดินทางไปโรงเรียนและกลับบ้านเองได้เหมือนกับคนรุ่นพ่อแม่เคยทำกัน ไม่กลัวคนแปลกหน้า ไม่ต้องให้พ่อแม่คอยไปส่ง ไม่ต้องคอยประจบประแจงอาจารย์ประจำชั้นด้วยการซื้อคูปองสมนาคุณให้ ได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีท้องฟ้าสีคราม ดื่มน้ำสะอาดบริสุทธิ์ กินอาหารที่ปลอดสารพิษ ขอแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว” ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คนรุ่นก่อนปฏิบัติกันมาช้านาน แต่กลับเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ยากในสังคมจีนที่เลี้ยงลูกแบบตามอกตามใจทุกอย่าง

เรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือ จุดหมายปลายทางที่ส่งลูกไปเรียนมักเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเจริญด้านต่างๆ แต่ก็มีปัญหาด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม มีเสรีภาพในการใช้ชีวิตสูงมาก การที่เด็กคนหนึ่งต้องอยู่ห่างจากสายตาพ่อแม่ ไม่มีใครคอยเป็นที่ปรึกษาและขาดวิจารณญาณในการแยกแยะความถูกความผิด ปล่อยใจไปตามสิ่งเร้าต่างๆ อาจนำพาไปสู่หนทางผิดๆ ได้อย่างง่ายดาย ผลก็คือ เด็กนักเรียนนอกเหล่านี้ติดอยู่กับชีวิตที่เต็มไปด้วยวัตถุ ไม่ฝักใฝ่การเรียน และสำเร็จการศึกษาแบบคาบลูกคาบดอก ทำให้หลายคนมีคำถามต่อผู้ปกครองในสังคมจีนยุคนี้ว่า “การส่งลูกไปเรียนยังต่างแดนมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความวัฒนาทางการศึกษาหรือเป็นเพียงพฤติกรรมที่ทำไปเพื่อได้ชื่อว่าไม่น้อยหน้าผู้อื่น”

กระแสการส่งลูกไปเรียนเมืองนอกในสังคมจีนยังคงได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น เพราะตราบใดที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนได้รับการยกระดับขึ้น การมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่ลูกหัวแก้วหัวแหวนในรูปแบบดังกล่าว ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในความคิดของพ่อแม่ยุคใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความหวังที่ว่าปริญญาใบนี้จะช่วยสร้างมูลค่าให้แก่บุตรหลานได้ในวันข้างหน้า