ฮือฮา!จับภาพ"ปลาพญานาค"ครั้งแรกในท้องทะเลลึก
ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยลุยเซียนาสามารถจับภาพ "ปลาออร์ฟิช" ได้ขณะว่ายอยู่ในทะเลลึกในอ่าวเม็กซิโก (ชมคลิป)
ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยลุยเซียนาสามารถจับภาพ "ปลาออร์ฟิช" ได้ขณะว่ายอยู่ในทะเลลึกในอ่าวเม็กซิโก
ความลี้ลับแห่ง “ปลาพญานาค” สัตว์ทะเลที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น “พญานาค” ได้รับการคลี่คลายแล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยลุยเซียนา ใช้กล้องใต้น้ำที่มีความคมชัดสูงจับภาพปลาในตำนานได้ระหว่างที่กำลังแหวกว่ายกลางท้องทะเลลึก นับเป็นการจับภาพปลาดังกล่าวแบบเป็นๆ ขณะกำลังอยู่ใต้ท้องทะเลได้เป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในกระบวนการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
ที่สำคัญก็คือ การเปิดเผยเรื่องราวของสัตว์ทะเลตัวนี้ จะช่วยลบล้างความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่าคือพญานาคหรือสิ่งมีชีวิตลี้ลับอย่างที่เคยเข้าใจกัน
การค้นพบครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์แห่งภาควิชาชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยลุยเซียนา และบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซใต้ทะเลลึก โดยทั้งสองสถาบันใช้ชื่อโครงการว่า SERPENT ทำการสำรวจสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดใต้ท้องทะเลมาเป็นเวลา 4 ปีเต็ม ระหว่างปี 2008-2011
ในภาพด้านบนซึ่งได้มาจากการบันทึกของทางโครงการที่อ่าวเม็กซิโก จะเห็นปลาออร์ฟิชซึ่งเป็นปลาที่คนไทยเข้าใจผิดว่าเป็นปลาพญานาค ที่ทหารเรืออเมริกันจับได้ในลำน้ำโขง เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ปี 1996 และมีการนำภาพและข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่แบบผิดๆทำให้เป็นที่โจษจันมาจนถึงปัจจุบัน ว่าแท้จริงแล้วสัตว์ในภาพคืออะไร และพญานาคมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่?
ปลาออร์ฟิชที่ทหารสหรัฐจับได้
อย่างไรก็ตาม จากการค้นข้อมูลถึงที่มาของปลาพญานาคตามที่คนไทยเข้าใจนั้น ก็จะพบความจริงที่ว่าปลานี้มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า ปลาออร์ฟิช หรือคิง ออฟ เดอะเฮอร์ริ่ง ถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี 1772โดยนักชีววิทยาชาวนอร์เวย์ ปีเตอร์ แอสคานุส มีลักษณะของลำตัวแบนแคบ ว่ายน้ำอยู่ใต้ท้องทะเลลึก และกินแพลงตอนเป็นอาหาร
จากสถิติที่เคยบันทึกไว้พบว่าปลาออร์ฟิชมีความยาวลำตัว 8-50ฟุต และบางตัวมีน้ำหนักมาก จึงทำให้ชาวประมงและกะลาสีเรือทั้งหลายเข้าใจกันผิดว่าเป็นสัตว์ประหลาด ซึ่งการจับภาพปลาออร์ฟิชขณะมีชีวิตเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเนื่องจากมันมักอาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกในช่วงระหว่าง 0.2-1 กม. และน้อยครั้งที่มันจะถูกซัดเข้ามาใกล้ชายฝั่งในสภาพแบบเป็นๆ ส่วนใหญ่มักพบในขณะที่มันตายหรือเหลือเพียงซากแล้ว
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะนำซากของปลาออร์ฟิช มาทำการศึกษา อย่างไรก็ตาม การค้นพบในครั้งนี้อาจจะเพิ่มช่องทางใหม่ในการศึกษาสัตว์ใต้ท้องทะเลให้มีข้อมูลที่ชัดเจนและกระจ่างขึ้นได้