posttoday

เตือนไทยดันนิรโทษนำประเทศสู่ทางตัน

01 พฤศจิกายน 2556

สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเตือนไทยดันนิรโทษนำการเมืองสู่ทางตัน สื่อนอกเชื่อจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านอย่างจริงจัง

สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเตือนไทยดันนิรโทษนำการเมืองสู่ทางตัน สื่อนอกเชื่อจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านอย่างจริงจัง

สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) แสดงความเห็นต่อความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของสภาผู้แทนราษฎรไทยว่า ทางการไทยกำลังสร้างเงื่อนไขซึ่งนำประเทศเข้าสู่ทางตันทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และวิจารณ์พรรคเพื่อไทยว่า ใช้ข้ออ้างเรื่องพรรคได้รับการเลือกตั้งเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย เพื่อปกครองประเทศแบบเผด็จการ โดยความพยายามล่าสุดคือการแกล้งทำเป็นไม่รับรู้ผลกระทบมหันต์ที่อาจเกิดขึ้นหากผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้

ซีเอฟอาร์อ้างรายงานจากองค์การฮิวแมนไรต์วอตช์ ที่ระบุว่าผลกระทบจากการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้จะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตจากการเหตุวุ่นวายทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่การผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้นอกจากจะทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถเดินทางกลับประเทศได้แล้ว ยังทำให้ทักษิณไม่ต้องรับผิดชอบผลพวงอันเกิดจากนโยบาย “สงครามยาเสพติด” ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และกรณีคอร์รัปชั่นอื่นๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม ซีเอฟอาร์ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มผู้ต่อต้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นกลุ่มคนเดิมกับที่เคยต่อต้านอดีตนายกฯ ทักษิณ เมื่อกว่า 10 ปีก่อน คือ กลุ่มกษัตริย์นิยม กลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงเทพฯ องค์กรสื่อสารมวลชน กลุ่มข้าราชการ รวมถึงกองทัพบางส่วน กลุ่มคนดังกล่าวรวมตัวอย่างหลวมๆ และไม่มีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยอย่างจริงจัง เพียงแต่ใช้ข้ออ้างเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อปลุกระดมมวลชนในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดหน่วยงานราชการและบานปลายสู่เหตุรุนแรงในอนาคต

สื่อต่างชาติคาดการณ์ว่า จะมีผู้ชุมนุมเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นี้กว่า 1 หมื่นคนในกรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นจำนวนใกล้เคียงกับมวลชน “เสื้อเหลือง” ซึ่งเคยปิดสนามบินเมื่อปี 2008 และประสบความสำเร็จในการสร้างเงื่อนไขเพื่อขับไล่ทักษิณมาแล้ว

ซีเอฟอาร์วิจารณ์ปิดท้ายว่า การเผชิญหน้าและการประนีประนอมทางการเมืองของไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมาประสบแต่ความล้มเหลวมาโดยตลอด เนื่องจากนักการเมืองไทยปฏิเสธที่จะรับฟังความเห็นจากองค์กรนานาชาติ เช่น ฮิวแมนไรต์วอตช์ ขณะที่แนวร่วมเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ก็มิได้ใช้การประท้วงแบบสันติวิธีหรือจัดตั้งสถาบันขึ้นเพื่อตรวจสอบและวิจารณ์ พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ใช้การประท้วงที่มีแต่จะรุนแรงขึ้นเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับกรณีปิดสนามบิน ซึ่ง|ทั้งหมดนำไปสู่ทางตันทางการเมือง และทำให้ฝ่ายหัวรุนแรงสามารถขึ้นมามีบทบาทได้อย่างเต็มที่

ขณะที่บีบีซีจากอังกฤษรายงานความเคลื่อนไหวการรวมตัวเพื่อประท้วง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของสังคมไทย ระบุว่า นักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้าน 4 คน ลาออกเพื่อเข้าร่วมกับการประท้วงในท้องถนนอย่างเต็มตัว เพื่อป้องกันการผ่าน พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งจะทำให้อดีตนายกฯ ซึ่งเนรเทศตัวเองไปอยู่ที่ประเทศดูไบ ให้พ้นผิดทุกกรณี

สื่ออังกฤษวิจารณ์ต่อว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวมีความพยายามอย่างโจ่งแจ้งในการทำให้ทักษิณพ้นจากความผิดฐานใช้อำนาจมิชอบ และแม้มวลชนทางการเมืองไทยจะไม่มีการรวมตัวกันมากว่า 2 ปี แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้น่าจะจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านอย่างจริงจังเพื่อกำหนดชะตาว่าทักษิณจะได้กลับมาเป็นผู้นำทางการเมืองอีกหรือไม่