สะดวกซื้อเวียดนาม
ส่องโอกาสทางธุรกิจของร้านสะดวกซื้อในเวียดนาม ทิศทางสดใส แต่ภาวะการแข่งขันสูง
โดย...อัฏฐวรรณ ลวณางกูร
ก่อนหน้านี้มีข่าวเป็นระยะๆ ว่า “ซีพี ออลล์” ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ในไทย กำลังหมายตาที่จะขยับขยายธุรกิจสู่อาเซียน โดยเฉพาะตลาดซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ที่ยังมีโอกาสสูงในธุรกิจนี้
ว่ากันว่า จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ เวียดนามมีศักยภาพมากสุดในการเข้าไปทำธุรกิจ และยังไม่มีไลเซนซี่ หรือผู้ได้รับอนุญาตทำธุรกิจภายใต้แบรนด์เซเว่นฯ ในเวียดนาม ทางซีพี ออลล์ อยู่ระหว่างดำเนินการขอไลเซนซี่จากบริษัทเซเว่น อีเลฟเว่น อิงค์ ประเทศสหรัฐ
ล่าสุด มีรายงานข่าวจากเวียดนามเน็ตที่อ้างแหล่งข่าว ระบุว่า ซีพี ออลล์ เตรียมเข้าไปเปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาแรกที่โฮจิมินห์ซิตี้ เร็วๆ นี้
โดยสินค้าที่วางขายในร้านราว 40% มาจากในประเทศเวียดนาม ส่วนอีก 60% จะมาจากเมืองไทยและประเทศอื่นๆ ในช่วง 2-3 ปีแรก ซีพี ออลล์ จะดำเนินธุรกิจเอง ก่อนที่จะทำสัญญาให้สิทธิแฟรนไชส์กับผู้ประกอบการเวียดนาม
หากข่าวนี้เป็นจริงก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ว่า ซีพี ออลล์ น่าจะขยายธุรกิจในภูมิภาคให้แข็งแกร่งขึ้น โดยใช้ความเชี่ยวชาญและผลงานที่ดีในตลาดไทยเป็นสปริงบอร์ด
ทั้งนี้ ในปี 2555 ยอดขายของเซเว่นฯ ในไทยโตเฉลี่ย 10.9% ถือเป็นอัตราเติบโตสูงสุดของเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วโลก อีกทั้งจำนวนลูกค้าเฉลี่ยที่เข้าร้านเซเว่นฯ ในไทยอยู่ที่วันละ 1,234 คนในแต่ละสาขา มากกว่า 1,052 คนในญี่ปุ่น และ 920 คนในสหรัฐ
นักวิเคราะห์มองว่า การที่ซีพีเน้นสินค้าประเภท “อิ่มสะดวก” ซึ่งมีสัดส่วนราว 60-70% ของสินค้าทั้งหมดในร้าน น่าจะเป็นโอกาสให้กลุ่มซีพีต่อยอดโมเดล 3F ในเวียดนาม โดยขยับสู่ขาที่ 3 คือ ธุรกิจอาหาร (food) เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียง 2F แรก คือ ธุรกิจอาหารสัตว์ (feed) และเลี้ยงสัตว์ (farm) ทำให้ธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
แต่เวียดนามก็ไม่ใช่ตลาดใหม่สำหรับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เพราะปัจจุบันมีเชนต่างชาติเข้าไปลงหลักปักฐานหลายแบรนด์ ไม่นับรวมธุรกิจท้องถิ่น
เชนร้านสะดวกซื้อ “ช็อป แอนด์ โก” เพิ่งเปิดสาขาที่ 100 ไปหมาดๆ เมื่อเดือนพ.ย. หลังจากทำธุรกิจในเวียดนามได้ 8 ปี และได้เซ็นสัญญากับบรรดาธุรกิจครอบครัว เพื่อยกระดับร้านโชห่วยให้เป็นร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเปิดสาขาใหม่อีก 30 แห่งในปี 2557
ส่วน “คิกุเระ ทาเคฮิโร” ประธานบริษัทเกีย ดินห์ เวียดนาม ผู้บริหารเชนร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่ มาร์ท” เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเทกระเป๋า 20-25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเปิดสาขาเพิ่มอีก 300 แห่ง ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ด้านอีออน เวียดนาม ที่ร่วมทุนระหว่างกลุ่มอีออนจากญี่ปุ่น และจุง เหงียนของเวียดนาม ทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “มินิสต็อป” ก็ยังมุ่งมั่นลงทุนในระยะยาว แม้ร้านมินิสต็อป 30 สาขาที่เปิดอยู่ในขณะนี้ยังไม่ทำกำไร โดยยังยึดแผนขยายสาขาให้ได้ 500 แห่ง ภายในปี 2560 อีกทั้งอีออนยังมีแผนจะเปิดห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต “อีออน มอลล์” แห่งแรกในโฮจิมินห์ซิตี้ด้วย
ขณะที่เชนร้านสะดวกซื้อท้องถิ่นก็เร่งปรับตัวกันขนานใหญ่ โดยเน้นขยายเครือข่ายร้านค้าให้มากขึ้น เช่น โค-ออป ฟู้ด ก็มีสาขา 117 แห่ง ขณะที่ฮาโปรมี 700 สาขาในปัจจุบัน
ฟาม เวียด อันห์ ประธานเลฟท์ เบรน คอนเนคเตอร์ มองว่า ร้านสะดวกซื้อจะประสบความสำเร็จได้จากการขยายช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุม และสร้างความแตกต่างให้สินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภค เพราะเมื่อประเมินจากเม็ดเงินลงทุนขั้นต้นสำหรับธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ 1.5 พันล้านด่อง เชนร้านสะดวกซื้อจะต้องมี 30 สาขา เพื่อจะแตะจุดคุ้มทุนได้